Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องสตรีนิยมสายนิเวศในวรรณกรรมนิเวศสำนึกของนักเขียนสตรีพื้นเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์กระบวนทัศน์สตรีนิยมสายนิเวศที่ปรากฏในวรรณกรรมนิเวศสำนึกร่วมสมัยของนักเขียนสตรีพื้นเมือง 3 คน ที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คือ จอย ฮาร์โจ กวีอเมริกันพื้นเมืองเชื้อสายครีก ลินดา โฮแกน นักเขียนอเมริกันพื้นเมืองเชื้อสายชิคาซอว์ และเคธ วอล์คเกอร์ กวีออสเตรเลียนเชื้อสายอะบอริจิน ผลการวิจัยพบว่าวรรณกรรมนิเวศสำนึกของนักเขียนทั้งสามนำเสนอกระบวนทัศน์สตรีนิยมสายนิเวศโดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงแบบคู่ขนานระหว่างพฤติกรรมคุกคามทำลายที่คนขาวกระทำต่อธรรมชาติ กับการกดขี่ ชนพื้นเมืองและสตรีพื้นเมือง อันเป็นผลมาจากโลกทัศน์ทวินิยมแบบจัดลำดับช่วงชั้นและกรอบมโนทัศน์แบบกดทับของวัฒนธรรมทุนนิยม-ปิตาธิปไตยตะวันตก ให้คุณค่ากับวิถีชีวิตแบบชนพื้นเมืองและประสบการณ์ของสตรีที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติ จอย ฮาร์โจและเคธ วอล์คเกอร์ นำเสนอกระบวนทัศน์สตรีนิยมสายนิเวศแนววัฒนธรรม โดยฮาร์โจเชิดชูความสัมพันธ์ระหว่างสตรีกับธรรมชาติผ่านประสบการณ์ทางเรือนร่างของสตรีในฐานะ “แม่” ว่าเป็นพลังอำนาจของเพศหญิง ในขณะที่กวีนิพนธ์ของวอล์คเกอร์ เชิดชูวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าอะบอริจินว่าเป็นวิถีชีวิตในอุดมคติ ทั้งฮาร์โจและวอล์คเกอร์ต่างก็โจมตีวัฒนธรรมปิตาธิปไตยตะวันตกในฐานะวัฒนธรรมปฏิปักษ์ ในขณะที่โฮแกนนำเสนอความขัดแย้งเชิงนิเวศระหว่างชนพื้นเมืองกับคนขาวตะวันตก ผ่านกระบวนทัศน์สตรีนิยมสายนิเวศที่ผสมผสานแนววิพากษ์กับแนวหลังอาณานิคม โดยต่อต้านกรอบคิดทวินิยมแบบจัดลำดับช่วงชั้นด้วยการเปิดพื้นที่ให้กับการปฏิสัมพันธ์เชิงโต้ตอบของสรรพสำเนียงที่เคยถูกกดทับในหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก เพื่อรองรับอัตลักษณ์แบบผสมผสานของชนพื้นเมืองและสตรีพื้นเมืองที่ถูกปรับปรนขึ้นหลังยุคอาณานิคม