Abstract:
พระราชบัญญัติทางหลวงแบ่งประเภทถนนในประเทศไทยตามหน่วยที่ดูแลรับผิดชอบเป็นหลัก แต่เนื่องด้วยประโยชน์การใช้งานมีความแตกต่างกันทั้งการบริการ การเคลื่อนที่ของการจราจร และการเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งจะสะท้อนการใช้งานหรือประโยชน์ใช้สอยของถนนแต่ละสาย ส่งผลถึงการบำรุงรักษา การออกแบบ การวางผังคมนาคม และการกำหนดมาตรการควบคุมความเร็วที่เหมาะสมกับหน้าที่ของถนนแต่ละประเภท ดังนั้น การจำแนกถนนตามหน้าที่การใช้งานจริง จะช่วยให้การวางแผนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น งานวิจัยนี้จึงศึกษาและจำแนกลำดับศักย์ของถนนตามหน้าที่การใช้งานจริง โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ร่วมกับตรรกศาสตร์คลุมเครือ และกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่าทางหลวงแผ่นดินมีหน้าที่การใช้งานจริงตามลำดับศักย์ทั้ง 4 ลำดับ ได้แก่ ทางสายประธาน ทางสายหลัก ทางสายรอง และทางสายย่อย โดยส่วนใหญ่เป็นทางสายหลัก (ร้อยละ 44) ทางหลวงชนบท มีการใช้งานจริงใน 2 ลำดับ ได้แก่ ทางสายรอง และทางสายย่อย โดยส่วนใหญ่เป็นทางสายย่อย (ร้อยละ 72) สำหรับทางหลวงท้องถิ่น มีการใช้งานจริงใน 3 ลำดับ ได้แก่ ทางสายหลัก ทางสายรอง และทางสายย่อย โดยส่วนใหญ่เป็นทางสายย่อย (ร้อยละ 98) ทั้งนี้ จากการจำแนกถนนทั้งหมดตามลำดับศักย์ของหน้าที่การใช้งานจริง พบว่าเป็นทางสายประธาน ร้อยละ 2 ทางสายหลัก ร้อยละ 5 ทางสายรอง ร้อยละ 9 และส่วนใหญ่เป็นทางสายย่อย ร้อยละ 84 ตามลำดับ