Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดหยาบจากรากย่านางต่อเชื้อสเตร็ปโตคอกไคที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุ และเชื้อก่อโรคแบบฉวยโอกาสในช่องปาก สารสกัดหยาบจากรากย่านางนี้ได้มาจากการสกัดด้วยเอทานอล และละลายในเอทานอลความเข้มข้นร้อยละ 20 การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพทำโดยวิธีแพร่สารละลายในวุ้น ตามด้วยวิธีบรอทไมโครไดลูชั่นเพื่อทดสอบหาความเข้มข้นต่ำที่สุดในการทำลายเชื้อ และประเมินระยะเวลาที่สารสกัดใช้ในการทำลายเชื้อด้วยวิธีไทม์คิล พบโซนยับยั้งขนาดเท่ากับ 12.67±1.15 7.67±1.52 และ 10.67±1.15 มิลลิเมตรต่อเชื้อสเตร็ปโตคอกคัส ซอบรินัส สายพันธุ์ OMZ 176 สเตร็ปโตคอกคัส แซงกวินิส สายพันธุ์ ATCC 10556 และสเตร็ปโตคอกคัส กอร์โดไน สายพันธุ์ DMST 2060 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบโซนยับยั้งขนาดเท่ากับ 10.00±1.00 และ 8.00±1.53 มิลลิเมตร ต่อเชื้อแคนดิดา ทรอปิคาลิส สายพันธุ์ ATCC 750 และแคนดิดา พาราไซโลสิส สายพันธุ์ ATCC 90018 ตามลำดับ ส่วนการทดสอบด้วยวิธีบรอทไมโครไดลูชั่นพบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านเชื้อที่ใช้ทดสอบเกือบทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะเชื้อสเตร็ปโตคอกคัส ซอบรินัส และเชื้อแคนดิดา ทรอปิคาลิส โดยสารสกัดที่ความเข้มข้นสองเท่าของความเข้มข้นต่ำสุดในการทำลายเชื้อสามารถทำลายเชื้อสเตร็ปโตคอกคัส ซอบรินัสได้ทั้งหมดภายในเวลา 7 ชั่วโมง แต่ที่ความเข้มข้นหนึ่งเท่าของความเข้มข้นต่ำสุดในการทำลายเชื้อไม่สามารถทำลายเชื้อสายพันธุ์นี้ได้ทั้งหมดภายใน 10 ชั่วโมง สำหรับเชื้อแคนดิดา ทรอปิคาลิส พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้นทั้งหนึ่งเท่า และสองเท่าของความเข้มข้นต่ำสุดในการทำลายเชื้อสามารถทำลายเชื้อสายพันธุ์นี้ได้ทั้งหมดภายในเวลา 10 และ 8 ชั่วโมงตามลำดับ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า สารสกัดหยาบจากรากย่านางมีฤทธิ์ต้านเชื้อสเตร็ปโตคอกไคที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุและเชื้อก่อโรคแบบฉวยโอกาสในช่องปาก โดยเฉพาะเชื้อสเตร็ปโตคอกคัส ซอบรินัส แบคทีเรียก่อโรคฟันผุ และเชื้อแคนดิดา ทรอปิคาลิส ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคแบบฉวยโอกาสที่พบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพที่จะพัฒนาสารสกัดนี้ให้เป็นส่วนผสมที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพในวานิช หรือยาป้ายในช่องปาก