Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของชนิดของระบบสารยึดติดร่วมกับเรซินซีเมนต์ และชนิดของไฮบริดเซรามิกสำหรับงานแคดแคม ต่อค่าความแข็งแรงพันธะแรงเฉือนระดับจุลภาค โดยศึกษาในห้องปฏิบัติการ ยึดติดไฮบริดเซรามิก 3 ชนิด คือ เรซินนาโนเซรามิก กลาสเซรามิกที่อยู่ในโครงข่ายเมทริกซ์ของเรซิน และเซอร์โคเนียซิลิกาเซรามิกที่อยู่ในโครงข่ายเมทริกซ์ของเรซิน กับเนื้อฟันด้านใกล้แก้มที่ขัดเรียบของฟันกรามน้อยที่ถูกถอนมาแล้ว ด้วยสารยึดติด และเรซินซีเมนต์ใน 3 ระบบ คือ ระบบเอทช์แอนด์ริ้นส์ ระบบเซลฟ์เอทช์ และระบบยูนิเวอร์ซอลในรูปแบบเอทช์แอนด์ริ้นส์ ชิ้นทดสอบมีทั้งหมด 99 ชิ้น แบ่งเป็น 9 กลุ่ม หลังจากผ่านกระบวนการจำลองการใช้งานในช่องปากด้วยเครื่องควบคุมอุณหภูมิร้อนเย็นเป็นจังหวะ 10,000 รอบ นำไปทดสอบหาค่าความแข็งแรงพันธะแรงเฉือนระดับจุลภาค วิเคราะห์ผลทางสถิติโดยกำหนดระดับนัยสำคัญที่ร้อยละ 95 เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของค่าความแข็งแรงพันธะแรงเฉือนระดับจุลภาคระหว่างกลุ่มด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง และทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยด้วยการเปรียบเทียบเชิงซ้อนชนิดทูคี จากการทดสอบพบว่า เมื่อยึดติดวัสดุทั้งสามชนิดด้วยสารยึดติด และเรซินซีเมนต์ที่ใช้รูปแบบเอทช์แอนด์ริ้นส์ (Optibond FL® ร่วมกับ Nexus3® และ Scotchbond Universal® ร่วมกับ RelyX™Ultimate®) ทำให้ค่าความแข็งแรงพันธะแรงเฉือนระดับจุลภาคมากกว่ากลุ่มที่ใช้สารยึดติดร่วมกับเรซินซีเมนต์ ระบบเซลฟ์เอทช์ (Optibond XTR® ร่วมกับ Nexus3®) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ภายใต้ข้อจำกัดของการศึกษานี้ทำให้สรุปได้ว่า ชนิดของสารยึดติดร่วมกับเรซินซีเมนต์ และชนิดของไฮบริดเซรามิกมีผลต่อค่าความแข็งแรงพันธะแรงดึงระดับจุลภาค ซึ่งพบว่าเมื่อเลือกใช้ชิ้นงานที่ทำจากไฮบริดเซรามิกจะแนะนำให้ใช้สารยึดติด และเรซินซีเมนต์ในรูปแบบเอทช์แอนด์ริ้นส์