Abstract:
วัตถุประสงค์ของการทดลองนี้เพื่อเปรียบเทียบกำลังแรงยึดเฉือนระหว่างแบร็กเกตจัดฟันโลหะกับเซอร์โคเนียที่ผ่านการปรับสภาพผิวที่แตกต่างกัน เตรียมเซอร์โคเนียขนาด 8 x 8 x 2 มิลลิเมตร จำนวน 12 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ชิ้น เผาซินเทอร์ นำไปฝังลงในท่อพีวีซีด้วยยิปซัมทางทันตกรรมและขัดเรียบ ผิวของเซอร์โคเนียถูกปรับสภาพผิวโดยการพ่นผงอะลูมิเนียมออกไซด์ (S) การกรอด้วยเข็มกรอกากเพชร (G) การทาสารปรับปรุงผิวเซอร์โคเนียไพรเมอร์ (Z) การพ่นผงอะลูมิเนียมออกไซด์ร่วมกับทาสารปรับปรุงผิวเซอร์โคเนียไพรเมอร์ (SZ) การกรอด้วยเข็มกรอกากเพชรร่วมกับทาสารปรับปรุงผิวเซอร์โคเนียไพรเมอร์ (GZ) และกลุ่มที่ไม่ได้ปรับสภาพผิวเป็นกลุ่มควบคุม จากนั้นแบ่งชิ้นงานออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งนำแบร็กเกตจัดฟันมาเชื่อมติดชิ้นงานด้วยเรซินแอดฮีซีฟทรานสบอนด์ เอ็กซ์ที (TransbondTM XT) กลุ่มที่สองนำแบร็กเกตจัดฟันมาเชื่อมติดชิ้นงานด้วยเรซินซีเมนต์รีไลน์เอ็กซ์ยูสองร้อย (RelyXTM U200) จากนั้นแช่ไว้ในน้ำกลั่นที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นทดสอบค่ากำลังแรงยึดเฉือนด้วยเครื่องทดสอบอเนกประสงค์ โดยใช้ความเร็วในการทดสอบที่ 1 มิลลิเมตรต่อนาที ศึกษาลักษณะความล้มเหลวที่เกิดขึ้นด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดสเตอริโอ และวิเคราะห์พื้นผิวของเซอร์โคเนียด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด จากนั้นนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติเปรียบเทียบโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง (Three-way ANOVA) ใช้สถิติความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way ANOVA) และสถิติเวลช์ (Welch) เปรียบเทียบค่ากำลังแรงยึดเฉือนแต่ละกลุ่ม ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 จากผลการศึกษาพบว่าการใช้เข็มกรอกากเพชร กรอที่ผิวเซอร์โคเนียช่วยเพิ่มความขรุขระที่ผิวและสามารถเพิ่มค่ากำลังแรงยึดเฉือนได้ดีกว่าการพ่นผงอะลูมิเนียมออกไซด์ และไม่ได้รับการปรับสภาพพื้นผิวเชิงกล การทาสารปรับปรุงผิวเซอร์โคเนียไพรเมอร์ (MDP) ให้ค่ากำลังแรงยึดเฉือนมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ทาสารปรับปรุงผิวเซอร์โคเนียไพรเมอร์ในทุกกลุ่ม หากไม่ได้ทาสารปรับปรุงผิวเซอร์โคเนียไพรเมอร์ กลุ่มที่ใช้เรซินซีเมนต์รีไลน์เอ็กซ์ยูสองร้อยให้ค่ากำลังแรงยึดเฉือนสูงกว่ากลุ่มที่ใช้เรซินแอดฮีซีฟทรานสบอนด์ เอ็กซ์ที อย่างมีนัยสำคัญอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) การปรับสภาพผิวเซอร์โคเนียด้วยการกรอด้วยเข็มกรอกากเพชรร่วมกับการทาสารปรับปรุงผิวเซอร์โคเนียไพรเมอร์ มีประสิทธิภาพในการเพิ่มแรงยึดของแบร็กเกตจัดฟันซึ่งอาจลดปัญหาการหลุดของแบร็กเกตขณะรักษาและเพิ่มความสำเร็จของการรักษาได้