Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงแนวคิด ทฤษฎี การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่เสียชีวิต และหลักเกณฑ์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่เสียชีวิตในต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มประเทศที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่มีบทบัญญัติคุ้มครองถึงบุคคลที่เสียชีวิต และประเทศที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีบทบัญญัติคุ้มครองถึงบุคคลที่เสียชีวิต เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่เสียชีวิตในประเทศไทย จากการศึกษาพบว่าในทางทฤษฎีนั้น ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียชีวิตได้รับการรับรองอย่างมั่นคงโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แนวคิดว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำหรับในประเทศที่กฎหมายว่าด้วยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้รับรองและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เสียชีวิตโดยตรงนั้น ปรากฏว่าศาลใช้วิธีการนำเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาตีความรวมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่เสียชีวิต นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับคุ้มครองข้อมูลของผู้เสียชีวิตโดยตรงด้วยได้แก่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์และงานจิตกรรม ค.ศ. 1907 (Kunsturhebergesetz 1907: KUG) ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความลับทางวิชาชีพ และสำหรับประเทศที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีบทบัญญัติคุ้มครองถึงบุคคลที่เสียชีวิต บทบัญญัติดังกล่าวมีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ก็สามารถให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในบรรดาประเทศเหล่านี้ยังกำหนดบุคคลผู้สามารถฟ้องคดีหรือดำเนินการร้องขอความคุ้มครองแก่ข้อมูลของบุคคลผู้เสียชีวิตเอาไว้อย่างชัดเจนด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่แบบกลับไม่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่เสียชีวิต นอกจากนี้ กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถถูกนำมาใช้เพื่อคุ้มครองข้อมูลของบุคคลที่เสียชีวิตโดยตรงได้ ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขสองแนวทางที่จะทำให้สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่เสียชีวิตได้รับการคุ้มครองในประเทศไทย ประการแรก ในช่วงที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายหรือในระหว่างที่มีการแก้ไขกฎหมาย ควรจะนำเอาแนวคิดว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่เสียชีวิต ในขณะที่ข้อเสนอประการที่สองนั้น คือการเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้การคุ้มครองครอบคลุมถึงข้อมูลของบุคคลที่เสียชีวิต และกำหนดตัวบุคคลที่สามารถดำเนินการเรียกร้องการคุ้มครองข้อมูลของผู้เสียชีวิตแทนผู้เสียชีวิตเอาไว้ด้วย