Abstract:
เครื่องหมายการค้ารสชาติถือเป็นหนึ่งในเครื่องหมายการค้ารูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากผู้ผลิตและผู้ประกอบการหลายรายเริ่มนำสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตามาใช้ในฐานะเครื่องหมายการค้าเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตน ซึ่งรวมถึงรสชาติด้วย ดังนั้น เครื่องหมายการค้ารสชาติจึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และในหลายประเทศได้ให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ของประเทศไทยไม่ได้ให้ความคุ้มครองรสชาติในฐานะเป็นเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด
เพื่อให้สามารถเสนอแนะแนวทางในการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม ผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษาบทบัญญัติแห่งกฎหมายเครื่องหมายการค้า คำพิพากษา และหลักเกณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ประเทศแคนาดาและประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติ ตลอดจนดำเนินการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า โดยแบ่งบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแบ่งเป็นปัญหาต่าง ๆ ได้ดังนี้ ความเหมาะสมในการนำรสชาติมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า บทนิยามคำว่า “เครื่องหมาย” ลักษณะบ่งเฉพาะและการแสดงลักษณะบ่งเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามของเครื่องหมายการค้ารสชาติ การพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนแล้ว ตลอดจนความพร้อมในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารสชาติ
ผู้เขียนเสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางในการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติ ได้แก่ การนำเทคโนโลยี วิทยาการ หรือเครื่องมือที่ทันสมัย และการว่าจ้างผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาช่วยในกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การยื่นคำขอจดทะเบียน การพิจารณาและตรวจสอบเพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมถึงการเก็บรักษาตัวอย่างเครื่องหมายการค้า เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ