Abstract:
อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle หรือ “UAV”) เป็นเครื่องมือสิ่งประดิษฐ์ชนิดใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในงานกิจการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานของรัฐบาล การใช้งานเชิงพาณิชย์ รวมถึงการใช้งานส่วนบุคคล ซึ่งอากาศยานไร้คนขับโดยส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งกล้องที่มีความคมชัดสูง หรืออุปกรณ์รวบรวมข้อมูลอื่นๆ ไว้ ทำให้ลักษณะของการใช้งานอากาศยานไร้คนขับซึ่งบินในมุมสูงในแต่ละครั้ง อาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการละเมิดความเป็นส่วนตัว และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อากาศยานไร้คนขับส่วนบุคคลนั้น ได้แก่ การใช้อากาศยานไร้คนขับรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล และการใช้อากาศยานไร้คนขับเป็นเครื่องมือในการถ้ำมอง รวมถึงการแอบถ่าย สอดแนม และการละเมิดความเป็นส่วนตัวอื่นๆ โดยอากาศยานไร้คนขับนั้นอาจถูกนำมาใช้โดยผิดวัตถุประสงค์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องพิจารณาถึงปัญหาจากการใช้อากาศยานไร้คนขับในการละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น การบุกรุกโดยอากาศยานไร้คนขับ (Trespass by UAV) การใช้อากาศยานไร้คนขับในการถ้ำมอง (Voyeurism) การใช้อากาศยานไร้คนขับในการสอดแนม (Spying) หรือติดตามบุคคลอื่น (Stalking) เป็นต้น วิทยานิพนธ์เล่มนี้จะศึกษาถึงแนวทางการกำหนดความรับผิดทางอาญาจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งแบ่งการพิจารณาออกเป็นสามประเด็น ได้แก่ การบุกรุกโดยอากาศยานไร้คนขับ การถ้ำมองโดยอากาศยานไร้คนขับ และการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยอากาศยานไร้คนขับ โดยวิเคราะห์ถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายไทยกับการใช้อากาศยานไร้คนขับในการละเมิดความเป็นส่วนตัว และศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการใช้อากาศยานไร้คนขับในการละเมิดความเป็นส่วนตัวในต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 5 มลรัฐ ได้แก่ มลรัฐเทนเนสซี มลรัฐมิสซิสซิปปี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มลรัฐหลุยเซียนา และมลรัฐโรดไอแลนด์ เพื่อหาแนวทางคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสมจากการใช้อากาศยานไร้คนขับ