Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราวตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อแสวงหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่เหมาะสมในการนำมาใช้กับการปล่อยชั่วคราวในประเทศไทยเพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยแก่ผู้เสียหายและสังคม จากการศึกษาพบว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นไม่สามารถที่จะประเมินความเสี่ยงได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะไปกระทำความผิดซ้ำหรือจะก่อเหตุร้ายประการอื่นหรือไม่ เนื่องจากศาลต้องพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยเร็วอันเป็นเหตุให้ศาลไม่อาจรวบรวมข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้อย่างครบถ้วน คงมีเพียงเหตุตามข้อหาที่ปรากฎอยู่ในคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คำฟ้อง และคำร้องขอฝากขังเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวและเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว รวมถึงรูปแบบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของประเทศสกอตแลนด์ ประเทศอังกฤษ ประเทศสวีเดน สหรัฐอเมริกา และ ประเทศออสเตรเลีย แล้วจะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่หลากหลาย เช่น การกำหนดความผิดที่จะไม่ให้ปล่อยชั่วคราว และการแสดงเหตุที่ไม่ควรถูกคุมขัง เป็นต้น ข้อเสนอแนะของการศึกษานี้ คือ ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เช่น ลักษณะและอุปนิสัยของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นต้น และเหตุที่ไม่ควรให้ปล่อยชั่วคราวคือ ผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอื่น นอกจากนี้ควรมีการกำหนดความผิดที่จะไม่ให้ปล่อยชั่วคราวได้ คือ ความผิดต่อชีวิต และความผิดเกี่ยวกับเพศ รวมถึงมีการกำหนดรูปแบบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีหน้าที่ต้องแสดงเหตุอันควรที่ศาลควรมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จากนั้นศาลจึงจะพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป ในขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะต้องแสดงข้อมูลให้ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีความเสี่ยงที่จะหลบหนีหรือก่อเหตุร้ายประการอื่นด้วย