Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อเปรียบเทียบระดับความสุขสบายของผู้สูงอายุโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการพยาบาลประคับประคองแบบฮิวแมนนิจูด 2) เพื่อเปรียบเทียบระดับความสุขสบายของผู้สูงอายุโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการพยาบาลประคับประคองแบบฮิวแมนนิจูดกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้สูงอายุโรคมะเร็งอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง ที่มารับบริการ ณ หอผู้ป่วยในโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มี คุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 44 คู่ แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 22 คู่ กลุ่มควบคุม 22 คู่ โดยการ จับคู่อายุ การวินิจฉัยโรค ประเภทของหอผู้ป่วยที่พักรักษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ โปรแกรมการพยาบาลประคับประคองแบบฮิวแมนนิจูด โดยใช้แนวคิดฮิวแมนนิจูดของ Gineste & Marescotti (2008) ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน เก็บรวบรวมข้อมูลโดย ใช้แบบสอบถามความสุขสบายของผู้ป่วย ( Hospice Comfort Questionnaire) ของ Novak, Kolcaba, Steiner, and Dowd (2001) ฉบับภาษาไทยแปลโดยยุพิน ถนัดวณิชย์ (Tanatwanit, 2011) มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.80 สถิติที่ใช้ในการ วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผู้สูงอายุโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองหลังได้รับโปรแกรมการพยาบาลประคับประคองแบบฮิวแมนนิจูดมีความสุขสบายมากกว่าก่อนได้รับโปรแกรมฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ผู้สูงอายุโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการพยาบาลแบบฮิวแมนนิจูดมีความสุขสบายมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05