Abstract:
การวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) เพื่อศึกษาความว้าเหว่ในผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 2) เพื่อศึกษา อายุ เพศ บุคลิกภาพ ระยะเวลานอนโรงพยาบาล จำนวนครั้งการเยี่ยมของญาติ ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และการสนับสนุนทางสังคมในผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 3) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความว้าเหว่ในผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังระหว่าง อายุ เพศ บุคลิกภาพ ระยะเวลานอนโรงพยาบาล จำนวนครั้งการเยี่ยมของญาติ ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และการสนับสนุนทางสังคมที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน โดยใช้วิธีสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน แบบประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แบบประเมินบุคลิกภาพ แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม และแบบวัดความว้าเหว่ในผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งได้รับการตรวจสอบคุณภาพค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหา และคำนวณหาค่าความเที่ยงโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ของแบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน แบบประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แบบประเมินบุคลิกภาพ แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม และแบบวัดความว้าเหว่ในผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ได้เท่ากับ 0.83, 0.92, 0.85, 0.81 และ 0.86 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Independent t-test และสถิติ ANOVA ผลการวิจัย พบว่า
1. ความว้าเหว่ของผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่า อยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นร้อยละ 60.5 และมีความว้าเหว่ระดับสูงร้อยละ 10
2. ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล คือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุตอนต้น (อายุ 60-69 ปี) เป็นเพศชายและเพศหญิงในจำนวนเกือบเท่ากัน มีบุคลิกภาพแบบแสดงออกและมีอารมณ์อ่อนไหวมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 95 มีระยะเวลานอนเฉลี่ย 10.3 วัน และมีจำนวนครั้งการเยี่ยมของญาติมากที่สุดคือ 2 ครั้งต่อวัน คิดเป็นร้อยะ 46.3 ส่วนใหญ่มีความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ในระดับต่ำคิดเป็นร้อยละ 42.50 และความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นร้อยละ 57.75 และรู้สึกได้รับการสนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 70
3. ความว้าเหว่ในผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตามอายุ เพศ ระยะเวลานอนโรงพยาบาล จำนวนครั้งการเยี่ยมของญาติ ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และการสนับสนุนทางสังคม พบว่า มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผู้สูงอายุตอนปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) มีความว้าเหว่มากกว่าผู้สูงอายุตอนกลาง (อายุ 69-70 ปี) และผู้สูงอายุตอนต้น (อายุ 60-69 ปี) เพศหญิงมีความว้าเหว่มากกว่าเพศชาย ผู้ที่มีจำนวนครั้งการเยี่ยมของญาติ 3 ครั้งต่อวันมีความว้าเหว่มากกว่าผู้ที่มีจำนวนครั้งการเยี่ยมของญาติในรูปแบบอื่นๆ ผู้ที่มีความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในระดับต่ำมีความว้าเหว่มากกว่าผู้ที่มีความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในระดับปานกลางและสูง ผู้สูงอายุที่มีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองในระดับสูงและผู้ที่มีการสนับสนุนทางสังคมในระดับสูงมีความว้าเหว่มากกว่าผู้ที่มีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและผู้ที่มีการสนับสนุนทางสังคมในระดับปานกลางและระดับต่ำ ส่วนบุคลิกภาพที่แตกต่างกันมีความว้าเหว่ไม่แตกต่างกัน