Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มี 2 ตอน คือ การวิจัยสำรวจ และการวิจัยทดลอง วัตถุประสงค์ของการวิจัยตอนแรก เป็นการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีอิทธิพลต่อความก้าวร้าวในเพศชายระหว่างกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ได้กระทำผิด (n = 240) และกลุ่มผู้ต้องขังชายที่กระทำผิดซ้ำในคดีรุนแรง (n = 200) โดยมีลักษณะไร้อารมณ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน และตอนต่อมาเป็นการทดลองด้วยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อเปรียบเทียบความสูงของคลื่น P300 ขณะทำภาระงานทั้ง 3 ชิ้น ในเงื่อนไขสิ่งเร้าที่เป็นเป้าหมายระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้กระทำผิดซ้ำ (n = 22) และกลุ่มที่กระทำผิดซ้ำ (n = 21)
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของโมเดลความก้าวร้าวในการศึกษาที่ 1 พบว่า ชนิดของกลุ่มตัวอย่างมีอิทธิพลทางบวกต่อความก้าวร้าว โดยมีลักษณะไร้อารมณ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน และการศึกษาที่ 2 ซึ่งเปรียบเทียบความสูงของคลื่น P300 ที่มีต่อสิ่งเร้าเป้าหมายบริเวณ Pz พบว่าทั้ง 3 ภาระงาน ภาระงานที่เป็นตัวอักษร ‘A’ ภาพที่มีเนื้อหารุนแรง และภาพสัตว์ที่น่าพึงพอใจ พบว่ากลุ่มที่กระทำผิดซ้ำมีความสูงของคลื่น P300 ที่เล็กกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กระทำผิดซ้ำในทุกสิ่งเร้าเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งความสูงของคลื่น P300 ยังเป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างลักษณะไร้อารมณ์และความก้าวร้าวอีกด้วย โดยกลุ่มที่กระทำผิดซ้ำมีความก้าวร้าวทางร่างกาย ความไม่สนใจ และความไม่เห็นใจ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กระทำผิดซ้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ