Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเรื่องยุคทองของนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ ค้นหายุคทอง แนวความคิด และรูปแบบการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในช่วง พ.ศ. 2530 – 2560 และเพื่อศึกษาผลกระทบทางบริบทในสังคมและวัฒนธรรมต่องานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย เป็นการศึกษาและใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือในการวิจัย คือ การสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสัมมนา สื่อสารสนเทศอื่น ๆ และการสำรวจข้อมูลภาคสนาม โดยนำข้อมูลที่ได้มาศึกษา วิเคราะห์สังเคราะห์ให้ได้มาซึ่งผลของการวิจัย และสรุปผลตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า ยุคทองของนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยในประเทศไทย อยู่ในช่วงปี พ.ศ.2536 – 2550 แนวความคิดของงานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยเกิดขึ้นในประเทศไทย คือ 1) แนวคิดการสร้างสรรค์งานจากบทวรรณกรรมเดิมในรูปแบบใหม่ 2) แนวคิดในการนำวัฒนธรรมที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้กับวัฒนธรรมดั้งเดิม 3) แนวคิดเชิงสัญลักษณ์ 4) แนวคิดการเต้นเฉพาะที่ 5) แนวคิดการแสดงที่สะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในโลก 6) แนวคิดการแสดงดั้งเดิมของอาเซียนผ่านมุมมองของศิลปะร่วมสมัย 7) แนวคิดลีลาแบบธรรมชาติ 8) แนวคิดการด้นสด 9) แนวคิดการมีส่วนร่วม และใส่ใจของชุมชน 10) แนวคิดการออกแบบลีลานาฏยศิลป์ไม่ระบุเพศ 11) แนวคิดการแสดงที่อาศัย องค์ความรู้ที่หลากหลายมากกว่าองค์ความรู้ 12) แนวคิดการสร้างสรรค์งานด้วยคุณธรรมและจริยธรรม โดยมีรูปแบบของงานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยที่นำเสนอแนวคิดออกมาเห็นเชิงประจักษ์ มีความแตกต่างจากรูปแบบของงานนาฏยศิลป์ไทยที่มีจารีต และกรอบของรูปแบบการแสดงอย่างชัดเจนผลกระทบที่เกิดจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นต่องานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ได้ปรากฏขึ้น 7 ประเด็นคือ 1) การเมือง การปกครอง และนโยบายด้านการบริหารงานวัฒนธรรมของภาครัฐ 2) การศึกษาทางนาฏยศิลป์ 3) การสร้างสรรค์และการแข่งขันทางนาฏยศิลป์ 4) การประกอบธุรกิจทางนาฏยศิลป์ 5) ศิลปะการแสดงละครเวทีในประเทศไทย 6) ศิลปะตะวันตกและศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย 7) ดนตรีไทยร่วมสมัยในประเทศไทย ผลการวิจัยนี้ทำให้ผู้วิจัยได้พบองค์ความรู้ตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ