Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาความหมายของสีจากกลุ่มตัวอย่างของคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2538–2552 หรือกลุ่ม
เจเนอเรชั่นซี (Generation Z) และนำข้อมูลมาสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากความหมายของสี โดยใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ แบบสอบถามความหมายของสี 400 ฉบับ การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การสัมมนา
สื่อสารสนเทศ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย ซึ่งนำข้อมูลมาตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 7 องค์ประกอบ คือ 1) บทการแสดงได้สอบถามความหมายของสีตามทฤษฎีสีทางทัศนศิลป์จากกลุ่มตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 2 องก์ คือ องก์ที่ 1 สีขั้นที่ 1 ประกอบไปด้วยความหมายของสีน้ำเงิน ความสุขุม สงบนิ่ง สีเหลือง หมายถึง ความสดใส และสีแดง หมายถึง ความร้อนแรง องก์ที่ 2 สีขั้นที่ 2 ประกอบไปด้วยความหมายของสีส้ม หมายถึง ความอบอุ่น สีเขียว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ และสีม่วง หมายถึง ความลึกลับ
2) นักแสดง ใช้นักแสดงทั้งหญิงและชาย มีทักษะความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ไทยและสามารถสื่อสารอารมณ์ผ่านลีลานาฏยศิลป์ไทย 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลานาฏยศิลป์ไทยมานำเสนอความหมายของสี 4) ดนตรีประกอบการแสดง ได้เลือกเสียงของเครื่องดนตรีไทยมาประกอบลีลาสื่อความหมายของสี 5) เครื่องแต่งกายออกแบบตามรูปแบบนาฏยศิลป์ไทย รวมทั้งใช้ความเรียบง่ายผ่านการใช้สีขาวเพียงสีเดียวและมีการลดทอนเครื่องประดับ 6) พื้นที่การแสดง ออกแบบตามวงล้อของสีทางทัศนศิลป์ 7) แสง ออกแบบตามวงล้อของสีทางทัศนศิลป์ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้คำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรรค์นาฏยศิลป์จากความหมายของสี 5 ประการ คือ 1) การคำนึงถึงความหมายของสีในการสร้างงานนาฏยศิลป์ 2) การคำนึงถึงทฤษฎีทางทัศนศิลป์ 3) การคำนึงถึงการใช้สัญลักษณ์ในการสร้างงานนาฏยศิลป์ 4) การคำนึงถึงจารีตและแบบแผนในการสร้างงานนาฏยศิลป์ไทยอนุรักษ์
5) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ ทั้งนี้การวิจัยในครั้งนี้เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ทางด้านนาฏยศิลป์มาบูรณาการร่วมกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการต่อยอดและพัฒนาผลงานนาฏยศิลป์ต่อไปในอนาคต