Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเทคนิคมายากล” ผู้วิจัยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทคนิคมายากลทั้ง 7 รูปแบบ ได้แก่ 1) การปรากฏ 2) การย้ายที่ 3) การเปลี่ยนรูป 4) การคืนสภาพ 5) การทะลุทะลวง 6) การต้านกฎธรรมชาติ 7) การอันตรธาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและหาแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเทคนิคมายากล มีรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจข้อมูลเชิงเอกสารทางด้านนาฏยศิลป์และมายากล การสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย สื่อสารสนเทศ การสำรวจข้อมูลภาคสนาม การสัมมนา เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ศิลปิน และประสบการณ์ของผู้วิจัย โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ สรุปผล และนำเสนอผลการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้ สามารถจำแนกตามองค์ประกอบของนาฏยศิลป์ 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) บทการแสดง โดยแบ่งเป็นทั้ง 7 องก์การแสดง ผ่านการตีความตามความหมายที่อธิบายถึงเทคนิคมายากล 2) นักแสดง มีทักษะการถ่ายทอดลีลาด้านนาฏยศิลป์สมัยใหม่ การแสดงมายากล นาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ บัลเลต์ และนักกีฬายิมนาสติก 3) ลีลานาฏยศิลป์ โดยใช้ลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายที่ใช้ประกอบการแสดงมายากล ลีลานาฏยศิลป์สมัยใหม่ ลีลานาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ ลีลาการเคลื่อนไหวแบบบัลเลต์ และลีลาการเคลื่อนไหวทางยิมนาสติก 4) อุปกรณ์ประกอบการแสดง มีการใช้ผ้ายืดสีเงินที่มีความยืดหยุ่นได้ เพื่อเปลี่ยนรูปร่างให้เป็นลักษณะต่าง ๆ มีการใช้ฉากหลังขนาดใหญ่ที่ใช้ผ้าตัดเป็นทางยาว เพื่อให้นักแสดงสามารถทะลุผ่านไปได้ มีการใช้อุปกรณ์กีฬาแทรมโพลีน เพื่อสื่อถึงการลอยตัวต้านกฎธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดงอื่น ๆ เช่น กล่องลัง เก้าอี้ กาน้ำ หนังสือ เป็นต้น 5) เสียงและดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นเสียงที่มาจากการบรรเลงสดโดยใช้วงดนตรีเชมเบอร์ 6) เครื่องแต่งกาย มีการใช้เครื่องแต่งกายแบบสากลนิยมทั้งนักแสดงชายและหญิง เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงมาตรฐานของการยอมรับในระดับสากล 7) พื้นที่แสดง ใช้โรงละครในลักษณะของแบล็ค บ๊อกซ์ เธียเตอร์ (Black Box Theatre) มีพื้นที่สี่เหลี่ยม 8) แสง ใช้แสงสื่อถึงบรรยากาศของการแสดงมายากล เช่น ความลึกลับ การซ่อนเร้น นอกจากนี้มีแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ครั้งนี้ ผู้วิจัยได้แนวคิดโดยการคำนึงถึงแนวคิดที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1) การคำนึงถึงเทคนิคมายากล 2) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในผลงานนาฏยศิลป์ 3) การคำนึงถึงการใช้สัญลักษณ์ในผลงานนาฏยศิลป์ 4) การคำนึงถึงแนวคิดของนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 5) การคำนึงถึงทฤษฎีด้านทัศนศิลป์ ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดนี้ มีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ เชื่อมโยงประสบการณ์และพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาการและวงการนาฏยศิลป์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานของผู้สร้างสรรค์ผลงานในอนาคต