Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีไร้ระเบียบ โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ สื่อสารสนเทศ การสังเกตการณ์ ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย และเกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ นำข้อมูลมาตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ตามกระบวนการที่กำหนดไว้
ผลการวิจัยพบว่าการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีไร้ระเบียบ มีรูปแบบในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ทั้งสิ้น 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) บทการแสดง ออกแบบบทการแสดงโดยวิเคราะห์จากระบบของทฤษฎีไร้ระเบียบ แบ่งออกเป็น 4 องก์การแสดง ประกอบด้วย องก์ที่ 1 ตัวดึงดูด (Attractor) องก์ที่ 2 ผลกระทบผีเสื้อ (Butterfly Effect) องก์ที่ 3 ไร้เสถียรภาพ (Unstable) และองก์ที่ 4 เรขาคณิตแบบเศษส่วน (Fractal) 2) นักแสดง ใช้การคัดเลือกนักแสดงที่มีทักษะในการแสดงที่หลากหลายรวมทั้งรูปร่าง สีผิว เพศ ที่หลากหลายในการแสดง 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลาการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน (Everyday Movement) การด้นสด (Improvisation) ตามหลักของนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ และลีลาการเคลื่อนไหวเชิงละคร 4) เครื่องแต่งกายและการแต่งหน้า ใช้เครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันมาออกแบบให้มีความแตกต่างจากรูปแบบเดิมและใช้การแต่งหน้าขาวเพื่อลดทอนการแสดงสีหน้าของนักแสดง 5) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดงที่พบเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน 6) เสียงและดนตรีประกอบการแสดง ออกแบบเสียงและดนตรีให้มีความสอดคล้องกับบทการแสดงและใช้วิธีการบันทึกเสียงและตัดต่อเสียงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 7) ฉากและพื้นที่การแสดง ออกแบบฉากโดยใช้การฉายภาพเคลื่อนไหวผ่านเครื่องฉายวีดิทัศน์ลงบนพื้นหลังของเวทีและตัวนักแสดง พื้นที่การแสดงใช้โรงละครประเภทแบล็คบ๊อคเธียเตอร์ (Black Box Theatre) ในการจัดการแสดง 8) แสง ใช้แสงเพื่อกำหนดพื้นที่ในแสดงเป็นหลักและสร้างอารมณ์ร่วมในการแสดง นอกจากนี้พบว่ามีแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีไร้ระเบียบ 5 ประการ ได้แก่ 1) ทฤษฎีไร้ระเบียบ 2) ความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ 3) แนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) ความหลากหลายในงานนาฏยศิลป์ 5) แนวคิดนาฏยศิลป์สร้างสรรค์สะท้อนสังคม ทั้งนี้งานวิจัยฉบับนี้เป็นวิทยานิพนธ์เชิงสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ที่มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในศาสตร์แขนงอื่น ๆ เพื่อก่อเกิดความรู้และสามารถเป็นแนวทางให้แก่ผู้ที่จะศึกษางานทางด้านนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต