Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานาฏกรรมในพิธีกรรมปัญโจลมะม็วด จังหวัดสุรินทร์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์และการมีส่วนร่วม ผลการวิจัยพบว่า พิธีกรรมปัญโจลมะม็วด เป็นพิธีกรรมในการรักษาโรคตามคติความเชื่อของคนกลุ่มชาติพันธุ์เขมรว่าผู้ป่วยมีสิ่งชั่วร้ายเข้าสิง จึงต้องให้มะม็วดซึ่งเป็นสตรีในสายตระกูลเท่านั้นมาทำพิธีเข้าทรงเชิญวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มากำจัดสิ่งชั่วร้ายนั้น พิธีมี 11 ขั้นตอน คือ 1. การปรับพื้นที่ตามฤกษ์ 2. การปลูกปะรำพิธี 3. การนำผู้ป่วยเข้าประจำที่ 4. การโหมโรงดนตรี 5. การไหว้วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ 6. การรำเข้าทรงของมะม็วด 7. การรำกำจัดสิ่งชั่วร้าย 8. การรำเชิญวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มาช่วยรักษา 9. การรำเชิญวิญญาณทั้งหมดกลับ 10. การรำเรียกขวัญผู้ป่วย 11.การรำลา นาฏกรรมในพิธีกรรมนี้ปรากฏอยู่ 3 วัตถุประสงค์ คือ 1. การรำบวงสรวง คือ การรำไหว้วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง 2. การรำรักษา คือ การรำดาบเพื่อฟันสิ่งชั่วร้าย 3. การรำเฉลิมฉลอง คือ การรำเพื่อยินดีกับผู้ป่วยที่รักษาหาย ผลการวิจัยเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านนาฏยศิลป์ไทย เป็นการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไปและยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่กระบวนการการสร้างความสามัคคี อันนำไปสู่ความสงบสุขร่มเย็นของสังคมไทย