Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง การรำลิเกทางครูเด่นชัย เอนกลาภ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรำลิเกในรูปแบบของครูเด่นชัย เอนกลาภ ซึ่งเป็นเป็นบุคคลสำคัญทางวงการลิเก ที่มีกระบวนการสืบทอดการแสดงลิเกจากครูหอมหวล นาคศิริและครูละครจากวังสวนกุหลาบ ผนวกกับประสบการณ์ในการแสดงลิเกจนกระทั่งเป็นรูปแบบการรำเฉพาะทางที่มีความงาม ประเด็นที่ศึกษาประกอบไปด้วย การรำหน้าพาทย์เพลงเสมอออกภาษา ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ใช้ประกอบกิริยาการเดินทางของตัวละครในการแสดงลิเก จำนวน 5 เพลง ได้แก่ 1. เพลงเสมอไทย 2. เพลงเสมอพม่า 3. เพลงเสมอมอญ 4. เพลงเสมอลาว 5. เพลงเสมอเขมร นอกจากการรำเพลงเสมอออกภาษาต่าง ๆ ผู้วิจัยได้ศึกษาการรำที่สำคัญอีกคือการรำเข้าพระเข้านางหรือรำเกี้ยวเป็นการรำของตัวพระและตัวนางในบทรักใช้เพลงมะลิเลื้อย และการรำอวดความสามารถขี่ม้ารำทวน ที่เป็น ความถนัดเฉพาะของครูเด่นชัย เอนกลาภ
จากการศึกษาผู้วิจัยพบว่า อัตลักษณ์การรำลิเกทางครูเด่นชัย เอนกลาภ นั้นมีลักษณะวิธีการปฏิบัติในรูปแบบการรำตามโครงสร้างของเพลงในลักษณะเดียวกันกับทางนาฎศิลป์ไทยแต่กระบวนท่ารำนั้นแตกต่างออกไปตามความถนัดและทักษะของผู้แสดง การใช้ศีรษะและสายตาในทางการรำลิเกนั้นพบว่ามีลักษณะการเคลื่อนที่คือการกล่อมใบหน้าและการมองที่เป็นอิสระโดยสายตาส่วนใหญ่ของการรำลิเกนั้นจะเน้นมองไปหาผู้ชมเป็นหลัก การใช้มือในการปฏิบัติท่ารำพบว่าใช้การดึงมือออกไปข้างลำตัวให้มีลักษณะท่ารำหรือการตั้งวงที่กว้างขึ้นกว่าทางนาฎศิลป์ นอกจากนั้นยังพบอีกว่าครูเด่นชัย เอนกลาภ มีจุดเด่นในเรื่องของการตั้งวงที่มีความอ่อนของนิ้วมือเป็นอย่างมากจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลักษณะการตั้งวงและการใช้มือนั้นเกิดความงามเป็นรูปแบบเฉพาะทาง การใช้ลำตัวมีลักษณะการตั้งลำตัวตรง ไม่เกร็งบริเวณเอว ตั้งลำตัวตรงไม่ดันอกขึ้น การใช้เท้าพบว่ามีลักษณะสำคัญในการปฏิบัติท่ารำนั้น ยกเท้าที่สูง ยกส้นเท้าก่อนยกปลายเท้าเพื่อเป็นการทรงตัวในการวางเท้า
การรำลิเกนั้นเป็นการรำแบบอิสระสามารถด้นกระบวนท่ารำขึ้นเองได้ตามภูมิปัญญาและทักษะของผู้แสดงโดยเน้นตามความนิยมผู้ชมหากผู้ชมชอบการแสดงแบบไหนลิเกก็จะแสดงแบบนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นจึงทำให้การรำของลิเกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทาง และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งแต่อยู่บนพื้นฐานหลักการรำและการแสดงที่ได้รับถ่ายทอดจากครูลิเกต่อไป