Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเล่าเรื่องและการใช้สัญญะที่ปรากฏในการเล่าเรื่องความรักที่ผิดหวังทั้งในเพลงไทยลูกทุ่งและเพลงไทยสตริงจากนั้นนำมาเปรียบเทียบว่าเพลงทั้งสองชนิดนี้มีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพ (Qualitative Content Analysis) มีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยทั้งหมด 59 เพลง ทั้งหมดมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักที่ผิดหวัง โดยมาจากเพลงไทยลูกทุ่ง 29 ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับรางวัลจากเวทีมหานครอวอร์ด และเพลงไทยสตริง 30 เพลง ซึ่งมาจากการจัดอันดับเพลงที่ได้รับความนิยมของ Joox.com
โดยผลการวิจัยพบว่า การเล่าเรื่องในเพลงไทยลูกทุ่งและเพลงไทยสตริงนั้นมีความเหมือนกัน คือ มักจะเป็นการเล่าถึงความขัดแย้งระหว่างบุคคลในท่อนเปิดเรื่อง และลำดับต่อมาจะเป็นการเล่าถึงความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของตัวละครในท่อนเนื้อเรื่องและท่อนไคลแมกซ์โดยเป็นการเล่าถึงการกระทำประเภทการกระทำเชิงรับ (Passive) มากกว่าการกระทำเชิงรุก (Active) และในท่อนยุติเรื่องราวมักจะเป็นการนำเนื้อเรื่องในท่อนอื่นที่มีการเล่าก่อนหน้านี้มาใช้ในการปิดท้ายโดยเฉพาะการนำเนื้อเรื่องบางส่วนจากท่อนไคลแมกซ์เพื่อนำมายุติเรื่องราว แต่มีความแตกต่างกันที่เนื้อหาและภาษาที่เล่า คือในเพลงไทยลูกทุ่งนั้นจะพบการเล่าถึง Setting อย่างการเล่าถึงสถานที่ซึ่งไม่พบในเพลงไทยสตริง และในเพลงไทยลูกทุ่งจะมีการใช้คำสรรพนามแทนตัวที่แสดงถึงความสนิทสนมและความอาวุโส อย่างคำว่า “พี่” “อ้าย” “น้อง” ในขณะที่ในเพลงไทยสตริงนั้นจะพบเพียงแค่การใช้คำว่า “ฉัน” และ “เธอ” อีกความแตกต่างที่พบคือในการเล่าถึงความเจ็บปวดในเพลงไทยลุกทุ่งมักพบว่ามีการเล่าโดยการกล่าวเกินจริง ในขณะที่ในเพลงไทยสตริงมักพบว่ามีการเปรียบเปรยที่แสดงในเห็นถึงมโนทัศน์ที่มองว่าความรักคือการเดินทาง