Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ลักษณะที่โดดเด่นของข่าวสารปลอมทางการเมืองบนเฟซบุ๊กในช่วงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 (2) ปัจจัยที่นำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง และ (3) กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนักการเมืองและพรรคการเมือง โดยใช้วิธีเชิงปริมาณ (Quantitative Methodology) คือ การวิเคราะห์เนื้อหาข่าวสารที่น่าสงสัยว่าจะเป็นข่าวปลอมทางการเมืองที่ปรากฏบนเพจทางการเมืองทั้งสองกลุ่มจำนวน 12 เพจ ได้แก่ (1) กลุ่มเพจที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพรรคพลังประชารัฐ (Pro-military) และ (2) กลุ่มเพจที่สนับสนุนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและพรรคอนาคตใหม่ (Pro-democracy) และใช้วิธีเชิงคุณภาพ (Qualitative Methodology) คือ การสัมภาษณ์ผู้ติดตามเพจทั้ง 27 คน
ผลการศึกษาลักษณะที่โดดเด่นของข่าวสารปลอมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 โดยการวิเคราะห์เนื้อหาพบว่า ข่าวปลอมทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งเป็นข่าวสารปลอมที่ถูกจัดว่าเป็นการโจมตีนักการเมืองและพรรคการเมืองและมีวิธีการนำเสนอที่ทำให้ผู้ติดตามเพจทางการเมืองเข้าใจผิด (Misleading) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผ่านกรณีศึกษาทั้งสองคือ (1) กรณีของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาและพรรคพลังประชารัฐ นั้นที่เกี่ยวข้องกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นข่าวสารปลอมทางการเมืองด้วยการสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการออกนโยบายสาธารณะโดยข่าวปลอมดังกล่าวถูกจัดประเภทเป็นคลิกเบท (Click Bait) ที่มีรูปแบบการนำเสนอคล้ายกับสำนักข่าวกระแสหลัก (Imposter) และมีเนื้อหาที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยสมบูรณ์ (Fabrication) (2) กรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ จะเป็นข่าวสารทางการเมืองที่เป็นทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) และที่ผูกโยงเรื่องราวทางการเมืองเช่น the storyline to major political events such as changes in political regime, mass political conflicts, and interference attempt in the election by the US government ที่มาจาการผู้เขียนบทความที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง (fictitious personas)
ทั้งนี้ การสัมภาษณ์เชิงลึกชี้ให้เห็นสถานการณ์และแรงจูงใจที่นำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้แก่ (1) การแบ่งขั้วทางการเมือง (Political Polarization) (2) การเปิดรับและติดตามเพจทางการเมือง (3) ความสะดวกในการตรวจสอบบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (4) ความรู้และประสบการณ์เดิม นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้ติดตามเพจแสดงให้ถึงปัจจัยที่เป็นกลไกที่นำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน คือ การเลือกเปิดรับสื่อ และ อคติเพื่อยืนยันความเชื่อเดิม (Confirmation Bias) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคที่เข้ามาลดทอนคุณค่าของการตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นเดียวเนื่องจากผู้ติดตามเพจจะเลือกตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความเชื่อเดิมมากกว่าการเสาะหาความจริงเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด (Misperception) เกี่ยวกับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ถูกพาดพิงบนข่าวปลอม