Abstract:
งานวิจัยเรื่อง “ความทรงจำร่วมในบทละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ของไทย” เป็นการศึกษาเนื้อหาความทรงจำร่วมและกลวิธีการนำเสนอความทรงจำร่วมในละครอิงประวัติศาสตร์ของไทย ตลอดจนการรับรู้ความทรงจำร่วมของผู้ชมละครโทรทัศน์ ภายใต้กรอบแนวคิดความทรงจำร่วมในละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ของไทยจำนวน 22 เรื่อง 31 เวอร์ชัน และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สร้างสรรค์ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ด้านต่าง ๆ ตลอดจนผู้ชมที่ชื่นชอบละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 31 คน
จากการศึกษาพบว่าละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ของไทยมีการนำสนอเนื้อหาความทรงจำร่วมด้วยการผลิตซ้ำ ต่อรอง ลบเลือน สร้างหรือรื้อฟื้นความทรงจำอยู่เสมอแบ่งได้ 7 ยุคสมัย ได้แก่ ยุคประกาศอิสรภาพ ยุคทองของกรุงศรีอยุธยา ยุคกรุงแตก ยุคสร้างบ้านแปงเมือง ยุคสยามยามเปลี่ยนผ่าน ยุคอภิวัฒน์สยามถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา และยุคเรียกร้องประชาธิปไตย มีกลวิธีการเล่าเรื่อง 5 แนว ได้แก่ แนวยอพระเกียรติ แนวบ้านเมืองร่มเย็น แนวเสียเลือดเสียเนื้อ แนวอุดมการณ์เหนือความรัก และแนวข้ามภพข้ามชาติ อีกทั้งใช้การประกอบสร้างและการสื่อความหมายผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ขั้นตอนต่าง ๆ โดยมากมักแฝงด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมหรือราชาชาตินิยมและใช้มุมมองแบบเมืองหลวงเป็นศูนย์กลาง
ความทรงจำร่วมในละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ของไทยนิยมผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ในสถานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เปี่ยมด้วยบุญญาธิการ และปกครองบ้านเมืองให้สงบสุขร่มเย็นภายใต้กรอบประวัติศาสตร์แห่งชาติหรือเรื่องเล่าแม่บท ตลอดจนมโนทัศน์หลักและคุณค่าต่าง ๆ ซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐให้ทำหน้าที่ตอกย้ำอุดมการณ์ว่าด้วยลัทธิความภักดีและค้ำจุนอำนาจของชนชั้นนำในสังคม