Abstract:
การวิจัยเชิงปริมาณในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับสื่อ ทัศนคติ แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพของบุคคลวัยเกษียณ และสารโน้มน้าวใจในการสื่อสารรณรงค์ลดบริโภคเค็ม รวมถึงการศึกษาความแตกต่างด้านดังกล่าวในลักษณะประชากรที่แตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลวัยเกษียณที่อาศัยในกรุงเทพมหานครจำนวน 400 คน ซึ่งเก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถาม ผ่านการฝากลิ้งก์บนสื่อออนไลน์และอาศัยการบอกต่อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมานในการทดสอบสมมติฐานเพื่อหาความแตกต่างและความสัมพันธ์ของตัวแปร โดยกำหนดนัยสำคัญที่ระดับ 0.05
ผลการศึกษาพบว่า การเปิดรับสื่อรณรงค์ของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือ สื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ และยูทูป โดยมีทัศนคติต่อสารโน้มน้าวใจระดับสูงมาก สารที่กลุ่มตัวอย่างให้คแนนสูง ได้แก่ ข้อความรณรงค์บอกความรุนแรงของโรค และข้อความรณรงค์ที่สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างยังมีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด จากการหาความแตกต่างทางประชากรพบว่า บุคคลวัยเกษียณที่มีระดับการศึกษาและแหล่งรายได้ต่างกัน มีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ด้านการหาความสัมพันธ์พบว่า ทัศนคติต่อสารโน้มน้าวใจมีความสัมพันธ์กับแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 การเปิดรับสื่อมีความสัมพันธ์กับทัศนคติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และการเปิดรับสื่อมีความสัมพันธ์กับแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01