Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงผสมผสานวิธี ได้แก่ การวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เอกสารมี
วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อวิเคราะห์รูปแบบของโฆษณาเครื่องสำอางเกาหลีที่มี “กนมีนัม” เป็น
ผู้นำเสนอสินค้าที่เผยแพร่บนอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กของตราสินค้า และการวิจัยเชิงปริมาณด้วยวิธี
การวิจัยเชิงสำรวจเพื่อสำรวจและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับ ทัศนคติ และการตัดสินใจซื้อของ
ผู้บริโภคที่มีต่อโฆษณาเครื่องสำอางเกาหลีที่มี “กนมีนัม” เป็นผู้นำเสนอสินค้า ใช้แบบสอบถามออนไลน์เป็น
เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 400 คนที่มีอายุ 23-39 ปีและอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ผลการวิจัยพบว่า โฆษณาเครื่องสำอางเกาหลีที่มี “กนมีนัม” เป็นผู้นำเสนอสินค้าจำแนกได้เป็น 26 รูปแบบ โดยรูปแบบที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) โฆษณาที่ใช้จุดดึงดูดใจด้านดาราและผู้รับรองสินค้า (Star Appeals and Testimonials) ร่วมกับวิธีนำเสนอความคิดสร้างสรรค์แบบจินตภาพ (Imagery) อันดับที่ 2) โฆษณาที่ใช้จุดดึงดูดใจด้านดาราและผู้รับรองสินค้า (Star Appeals and Testimonials) ร่วมกับวิธีนำเสนอความคิดสร้างสรรค์แบบการใช้บุคคลอ้างอิงหรือผู้นำเสนอสินค้า (Testimonial/Presenter) อันดับที่ 3) โฆษณาที่ใช้จุดดึงดูดใจด้านคุณภาพ (Quality Appeals) ร่วมกับวิธีนำเสนอความคิดสร้างสรรค์แบบการใช้บุคคลอ้างอิงหรือผู้นำเสนอสินค้า (Testimonial/Presenter) และผลการวิจัยเชิงสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีระดับการเปิดรับโฆษณาสูง มีทัศนคติเชิงบวกต่อโฆษณาและมีการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอางที่มี “กนมีนัม” เป็นผู้นำเสนอสินค้าอยู่ในระดับสูง ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า การเปิดรับโฆษณาเครื่องสำอางที่มี “กนมีนัม” เป็นผู้นำเสนอสินค้ามีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อโฆษณาของผู้บริโภค กล่าวคือ หากผู้บริโภคมีการเปิดรับโฆษณาสูงจะมีทัศนคติเชิงบวกต่อโฆษณาด้วย และทัศนคติต่อโฆษณามีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจซื้อ โดยหากผู้บริโภคมีทัศนคติเชิงบวกต่อโฆษณาเครื่องสำอางที่มี “กนมีนัม” เป็นผู้นำเสนอสินค้าจะมีแนวโน้มการตัดสินใจซื้อสินค้าสูงตามไปด้วย