Abstract:
โครงการอาคารชุดในกรุงเทพมหานครอยู่ภายใต้กฎหมายซึ่งกำหนดจำนวนขั้นต่ำของที่จอดรถยนต์ที่ต้องจัดเตรียมในโครงการโดยกำหนดจำนวนที่จอดรถยนต์จากขนาดพื้นที่ห้องชุดและพื้นที่อาคาร อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยที่กล่าวถึงระยะเดินเท้าของคนที่แสดงถึงพฤติกรรมการเดินเท้าของผู้พักอาศัยโดยรอบสถานีระบบขนส่งมวลชนแบบเร็วหรือรถไฟฟ้าที่ต่างกันไปตามระยะห่างจากสถานี ซึ่งอาจส่งผลถึงความต่างของพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของผู้พักอาศัย และการจัดเตรียมจำนวนที่จอดรถยนต์ในโครงการพักอาศัยที่ตั้งอยู่ในระยะห่างจากสถานีที่ต่างกัน อีกทั้ง การลงทุนพัฒนาโครงการอาคารชุดต้องใช้เงินลงทุนสูง ผู้ประกอบการจึงได้นำเสนอแนวคิดว่า การลดอัตราส่วนที่จอดรถยนต์ลงสามารถมีส่วนช่วยลดต้นทุนได้ โดยเฉพาะโครงการอาคารชุดตามทำเลแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนแบบเร็วหรือรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นทำเลที่ที่ดินมีราคาสูง งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดเตรียมที่จอดรถยนต์และพฤติกรรมการใช้งานที่จอดรถยนต์ของผู้อยู่อาศัยในโครงการอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปรียบเทียบตามระยะห่างจากโครงการอาคารชุดถึงสถานีระบบขนส่งมวลชนแบบเร็ว โดยใช้วิธีการศึกษาทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านอุปทาน โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างโครงการอาคารชุดจำนวน 430 โครงการ จากการสุ่มตัวอย่างจากรายชื่อโครงการอาคารชุดที่ได้รับอนุมัติความเห็นชอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2561 ในเอกสารรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และด้านอุปสงค์ โดยศึกษาด้วยการเก็บแบบสอบถามข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานที่จอดรถยนต์ในโครงการอาคารชุดจากกลุ่มตัวอย่างผู้พักอาศัยจำนวน 293 คน ซึ่งอาศัยในโครงการอาคารชุดที่มีลักษณะเดียวกันกับโครงการกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาด้านอุปทาน จากนั้นจึงนำข้อมูลที่รวบรวมได้ มาวิเคราะห์เชิงสถิติ สรุปผล และอภิปราย
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า โครงการอาคารชุดในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่จัดเตรียมที่จอดรถยนต์ไว้เท่ากับจำนวนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ของจำนวนโครงการทั้งหมด โดยจัดเตรียมที่จอดรถยนต์ไว้โดยเฉลี่ยที่สัดส่วนร้อยละ 104 เมื่อเทียบกับจำนวนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82 จัดเตรียมที่จอดรถยนต์ในโครงการไว้เป็นสัดส่วนไม่เกินค่าเฉลี่ยดังกล่าว เมื่อเทียบกับจำนวนห้องชุด โครงการอาคารชุดในภาพรวมมีการจัดเตรียมที่จอดรถยนต์เฉลี่ยที่ร้อยละ 54 ต่อจำนวนห้องชุดในแต่ละโครงการ กล่าวคือ เตรียมไว้ประมาณกึ่งหนึ่งของจำนวนห้องชุดทั้งหมด
ความแตกต่างของระยะห่างของที่ตั้งโครงการจากสถานีระบบขนส่งมวลชนแบบเร็วไม่ทำให้เกิดความแตกต่างในการจัดเตรียมที่จอดรถยนต์ในแต่ละโครงการ โดยโครงการอาคารชุดที่ตั้งอยู่ในระยะห่างที่ต่างกันมีการจัดเตรียมที่จอดรถยนต์ไว้ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น โครงการอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในมีแนวโน้มที่จะจัดเตรียมที่จอดรถยนต์เกินจากที่กฎหมายกำหนดในสัดส่วนที่สูงกว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง และชั้นนอก ส่วนความแตกต่างของพื้นที่ในและนอกย่านศูนย์เศรษฐกิจ ไม่ก่อให้เกิดความต่างในการจัดเตรียมที่จอดรถยนต์ในโครงการอาคารชุดนัก สำหรับโครงการที่จัดเตรียมที่จอดรถยนต์ไว้เกินกว่าจำนวนที่จอดรถยนต์ที่กฎหมายกำหนดค่อนข้างสูงนั้น จะตั้งอยู่ใกล้สถานีระบบขนส่งมวลชนรูปแบบสถานีทั่วไปที่ไม่ใช่สถานีร่วม
เมื่อศึกษาพฤติกรรมการของผู้พักอาศัยในการใช้ที่จอดรถยนต์ในโครงการอาคารชุด พบว่า ร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่างใช้รถยนต์ในการเดินทางเป็นประจำ โดยมีสัดส่วนการใช้ที่จอดรถยนต์ในโครงการแตกต่างกันไปตามช่วงวันและเวลา ตั้งแต่ร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 57 ต่อจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ผู้พักอาศัยกลุ่มตัวอย่างจอดรถยนต์เป็นจำนวนมากในช่วงเวลาตั้งแต่ 18.00-08.00 น. ในขณะที่ช่วงเวลา 08.00-18.00 มีอัตราการจอดรถยนต์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 18 ส่วนในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้พักอาศัยกลุ่มตัวอย่างจะจอดรถยนต์ในโครงการเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 30
จากการอภิปรายผล ในภาพรวมที่จอดรถยนต์ที่โครงการจัดเตรียมซึ่งส่วนใหญ่เตรียมไว้ใกล้เคียงกับจำนวนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้นมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานจริง และหากจะปรับลดจำนวนที่จอดรถยนต์ขั้นต่ำลงก็มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้สถานีระบบขนส่งมวลชนแบบเร็ว เนื่องจากผู้พักอาศัยในระยะ 500 เมตรจากสถานีใช้การเดินเท้าเป็นรูปแบบการเดินทางหลัก ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดเรื่องระยะการเดินเท้าที่ผ่านมา