Abstract:
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศเป็นอย่างมาก โดยมีความสำเร็จของภาคเอกชนเป็นรากฐานที่สำคัญ แต่ก็เป็นธุรกิจที่มักจะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอาคารชุดมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากในปัจจุบัน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลยุทธ์ระดับองค์กรของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงวิธีการในการรับมือกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละปีที่ส่งผลถึงกลยุทธ์ระดับผลิตภัณฑ์ และแนวคิดในการพัฒนาของอาคารชุดแต่ละแบรนด์ที่มีในปัจจุบัน จากการเลือกกรณีศึกษาที่มีความโดดเด่นด้านรายได้ คือบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสารเผยแพร่ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ รายงานข้อมูลประจำปี (56-1) และเอกสารอ้างอิงต่างๆ จากนั้นจึงเก็บข้อมูลปฐมภูมิโดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาพบว่า บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) แบ่งโครงสร้างบริษัทเป็นฝั่งแวลูและพรีเมียม ซึ่งมีกลยุทธ์และแนวคิดที่แตกต่างกัน โดยฝั่งแวลูเน้นการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่เป็นหลัก ไม่ซับซ้อน เน้นราคาและทำเล ส่วนฝั่งพรีเมียมเน้นการสร้างความแตกต่างจากไลฟ์สไตล์ลูกค้า ในส่วนของเป้าหมายและการกำหนดทิศทางของแต่ละปีนั้น บริษัทคำนึงถึงการปรับตัวตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยการสร้างแบรนด์ให้เกิดความหลากหลาย ครอบคลุมทุกกลุ่มตลาด เพื่อที่จะสามารถปรับตัวให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ
ผลการศึกษาสรุปว่า กลยุทธ์การพัฒนาสำหรับอาคารชุดพักอาศัยของบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) คือการขยายพอร์ทให้เติบโตและยืดหยุ่นตามสภาวะตลาด โดยการสร้างธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่หลากหลาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปรับตัวตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในแต่ละปี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลา คือ ช่วงที่ 1 (พ.ศ.2550-2553) เริ่มพัฒนาโครงการอาคารชุด ใช้กลยุทธ์การบริหารต้นทุนและกระจายการลงทุน สอดคล้องกับนโยบาย BOI ของรัฐบาล ช่วงที่ 2 (พ.ศ.2554-2557) เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่และปัญหาการเมือง จึงยังคงเน้นกลยุทธ์การบริหารต้นทุนเป็นหลัก โดยมีกลยุทธ์สร้างเสร็จไว เร่งการรับรู้รายได้และสร้างความแข็งแรงในองค์กรเป็นกลยุทธ์รอง และช่วงที่ 3 (พ.ศ.2558-2562) ตลาดบนเป็นที่ต้องการ เริ่มมีการแข่งขันด้านนวัตกรรม การพัฒนาโครงการแบบมิกซ์ยูส ทำให้เกิดแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์ลูกค้ามากขึ้น เน้นกลยุทธ์เพิ่มมูลค่า กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์และการตลาดแบบออนไลน์ โดยที่กลยุทธ์หลักยังคงเป็นเรื่องของการบริหารต้นทุน