Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ อธิบายความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการวิเคราะห์ขบวนการเสื้อแดง จังหวัดขอนแก่น โดยใช้ทฤษฎีกรอบโครงความคิด (framing) เป็นเครื่องมือหลักในการทำความเข้าใจขบวนการ วิธีการดำเนินเลือกใช้การวิจัยด้านเอกสาร (documentary research) การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-dept interview) ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (oral history) และการสนทนากลุ่ม (focus group) ของผู้นำและมวลชนคนเสื้อแดงจังหวัดขอนแก่น งานศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่ากรอบโครงความคิดของความอยุติธรรม (injustice frame) เป็นกรอบโครงความคิดหลัก (master frame) ของขบวนการเสื้อแดงเชื่อมโยงรวบรวมความคิดทางการเมืองของชาวบ้านที่หลากหลาย อยู่กระจัดกระจายและอ่อนแอได้ กรอบโครงความคิดที่ถูกสร้างขึ้นได้ร้อยรัดทัศนคติที่แตกต่างกันของปัจเจกบุคคล และสร้างความหมายร่วมกันของคนเสื้อแดงลุกขึ้นมามีปฏิบัติการทางการเมือง อย่างไรก็ตามกระบวนการสร้างกรอบโครงความคิดของขบวนการเสื้อแดงก็มิได้เป็นไปอย่างง่ายดาย แต่ทว่างานศึกษานี้ค้นพบกระบวนการตอบโต้กรอบโครงความคิด (counter framing) การปะทะ ต่อสู้ ต่อรองของมวลชนในฐานะผู้กระทำการทางการเมือง (political actor) มวลชนมิได้นำเชื่อกรอบโครงความคิดที่ถูกผลิตขึ้นอย่างง่ายดาย จนในบางครั้งมวลชนเองก็มีความพยายามที่จะลบล้างเพื่อสร้างกรอบโครงความคิดใหม่ขึ้นมาทดแทน (reframing)