Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มุ่งตอบคำถามที่ว่านักดื่มหน้าใหม่มีพฤติกรรมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร และประสิทธิผลมาตรการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เป็นอย่างไร โดยมองมาตรการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านกรอบแนวคิดนโยบายสาธารณะในฐานะเครื่องมือแทรกแซงพฤติกรรม ใช้ระเบียบวิธิวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามออนไลน์ (Online questionnaire) เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนิสิต นักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรีที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 272 คน
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า (1) กลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกในช่วงอายุระหว่าง 12-15 ปี คิดเป็นร้อยละ 47.79 ซึ่งเป็นการเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุที่น้อยมาก (2) ชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ดื่มครั้งแรก คือ เบียร์ คิดเป็นร้อยละ 52.94 และเบียร์ ยังเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ชอบดื่มมากที่สุดในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 67.65 (3) ผู้ที่มีอิทธิพลในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกของกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ คือ เพื่อน คิดเป็นร้อยละ 54.04 (4) เหตุผลที่กลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ดื่มเครืองดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งแรก คือ อยากทดลอง คิดเป็นร้อยละ 45.58 (5) ร้านขายของชำเป็นสถานที่ที่กลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 35.29 และยังเป็นสถานที่ที่กลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เลือกซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยที่สุดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 47.79
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย : การพิจารณามาตรการในการดูแลและควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่อายุระหว่าง 12-15 ปีให้มากขึ้นเป็นพิเศษ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหรือสถาบัน อาทิ สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว ฯลฯ ในการดูแลและให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่กลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ การแทรกแซงผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดเบียร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทต่อการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่