Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพิ่อเปรียบเทียบคุณลักษณะและผลงานของอาจารย์ภาษาฝรั่งเศสระดับอุดมศึกษาช่วงต้นแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2531) และช่วงกลางแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2537) ประการที่สอง เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสภาพการเรียนการสอนและปัญหาในการสอน ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2543 และประการสุดท้าย เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิวิชาภาษางฝรั่งเศสกับอาจารย์ภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับปัญหาสำคัญและแนวทางการแก้ไขปัญหา ข้อมูลสำหรับการวิจัยครั้งนี้ได้จากแบบสอบถามอาจารย์ภาษาฝรั่งเศส สังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐ 15 คณะ รวม 9 สถาบัน เป็นจำนวน 74 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 70.48 ของจำนวนแบบสอบถามทั้งสิ้น 105 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยายร้อยละ ได้ผลการวิจัยโดยสรุปดังนี้ 1. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักสูตรวิชาภาษาฝรั่งเศสและจำนวนบุคลากร 1.1 โครงสร้างหลักสูตรวิชาภาษาฝรั่งเศส ในภาพรวมของหลักสูตรวิชาภาษาฝรั่งเศส 15 หลักสูตร ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภาควิชาภาษาตะวันตก และภาควิชาภาษาฝรั่งเศสในสังกัดของคณะมนุษยศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์หรือคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสมากที่สุดคือ 3 หลักสูตร คือมหาวิทยาลัยศิลปากร ในระดับปริญญาตรี จำนวนหน่วยกิตเฉลี่ยในหมวดวิชาเอกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 56 หน่วยกิต เป็น 59 หน่วยกิต ในหมวดวิชาโทมีแนวโน้มลดลงจาก 29 หน่วยกิต เหลือ 23 หน่วยกิต และในหมวดวิชาเอกคู่และวิชาเอกเดี่ยวไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในระดับปริญญาโท จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตรโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 44 หน่วยกิต เป็น 48 หน่วยกิต ส่วนในระดับปริญญาเอกซึ่งเริมเปิดสอนปีการศึกษา 2538 มีจำนวนหน่วยกิตเท่ากับ 66 หน่วยกิต และคาดว่าจะเท่ากับปัจจุบันคือ 66 หน่วยกิต ในปี 2543 1.2 จำนวนบุคลากร จำนวนบุคลากรประจำหลักสูตรทั้ง 15 คณะ มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละระดับแตกต่างกันคือ ในระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่จำนวนอาจารย์ที่สอนทั้งระดับปริญญาตรีกับระดับบัณฑิตศึกษา และมีสอนเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษาอย่างเดียวมีจำนวนเพิ่มขึ้นในภาพรวมจำนวนอาจารย์ภาษาฝรั่งเศสเพิ่มจาก 120 คน ในปี พ.ศ. 2531 เป็น 130 คน ในปี พ.ศ. 2537 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 139 คน ในปี พ.ศ. 2543 2. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะ ผลงานและความคาดหหวังของอาจารย์ภาษาฝรั่งเศส 2.1 ลักษณะกายภาพและคุณลักษณะทางด้านวิชาการ อาจารย์ภาษาฝรั่งเศสเป็นหญิงมากกว่าชาย ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 36-45 ปี คุณลักษณะทางด้านวิชาการมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกด้าน ได้แก่ คุณวุฒิ ประสบการณ์ในการสอน ผู้ได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ และปริมาณผลงานทางวิชาการ 2.2 คุณลักษณะทางด้านภาระงาน มีลักษณะคงที่ คือสอนสัปดาห์ละ 7-9 ชั่วโมง แต่ภาระงานสอนในระดับปริญญาตรีลดลงขณะที่ในระดับปริญญาโทเพิ่มขึ้น และมีภาระงานนอกเหนือจากการสอนคือ เป็นวิทยากร ที่ปรึกษาชมรมภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาต่างประเทศ อาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการภายในคณะ 2.3 ความคาดหวังในอนาคต ส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่าจะมีตำแหน่งทางวิชาการประสบการณ์ในการสอนและการเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มขึ้น และมีลักษณะงานที่สนใจจะทำมากที่สุดในอนาคตคืองานสอนและการผลิตผลงานทางวิชาการ 3. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านวิธีการสอนและกิจกรรมการสอน 3.1 วิธีการสอน อาจารย์ที่ใช้วิธีการสอนแบบผสมผสานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3.2 ลักษณะการเตรียมและการสอนที่มีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือการเตรียมการสอน แต่เดิมจะเตรียมการสอนตามลักษณะรายวิชาและเนื้อหาเท่าที่มีแต่ในปี พ.ศ. 2543 คาดว่าจะมีการศึกษาค้นคว้าเนื้อหาเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ ด้วย ส่วนการสอนวิชาที่เป็นเนื้อหา แต่เดิมจะเน้นที่สุดในเรื่องความเข้าใจในเนื้อหา แต่ในปี พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2543 จะเน้นในเรื่องของการรู้จักคิดวิเคราะห์วิจารณ์มากที่สุด 4. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านใช้สื่อการสอน อาจารย์ที่ใช้สื่อการสอนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่นิยมใช้มากที่สุดคือ เอกสารจริงประเภท Documents ecrits และ Documents sonores 5. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านการวัดและประเมินผลอาจารย์ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนสูงขั้นทุกด้าน ได้แก่ การสอบข้อเขียนโดยสอบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า การมีจุดเน้นให้ผู้เรียนรู้จักใช้ความคิดพิจารณาหาเหตุผล และการนำผลไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงการเรียนการสอน 6. ปัญหาสำคัญและแนวทางการแก้ไขปัญหา ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์ภาษาฝรั่งเศสมีความคิดเห็นเหมือนกัน 3 ด้าน ดังนี้ 6.1 ปัญหาเนื่องมาจากตัวผู้เรียนและข้อเสนอแนะ ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ผู้เรียนมีพื้นฐานความรู้ไม้เพียงพอ ข้อเสนอแนะสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ การปรับปรุงหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาลและอุดมศึกษาให้มีความต่อเนื่องกัน 6.2 ปัญหาเนื่องมาจากตัวผู้สอนและข้อเสนอแนะ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิมีความคิดเห็นว่าอาจารย์ภาษาฝรั่งเศสมีปัญหาด้านคุณภาพ แต่ได้เสนอแนะเหมือนกันคือ ให้ผู้บริหารจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อการผลิตผลงานทางวิชาการให้แก่อาจารย์ 6.3 ปัญหาอันเนื่องมาจากสื่อการสอนและข้อเสนอแนะ กลุ่มผุ้ทรงคุณวุฒิมีความคิดเห็นว่าขาดแคลนสื่อการสอนที่ทันสมัย ขณะที่กลุ่มอาจารย์มีความเห็นว่า สื่อการสอนไม่เพียงพอ แต่มีข้อเสนอแนะต่างกันคือ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิได้เสนอแนะให้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส ขณะที่กลุ่มอาจารย์ได้เสนอแนะให้จัดตั้งศูนย์บริการสื่อการสนอนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างมหาวิทยาลัย