Abstract:
การวิจัยนี้มุ่งศึกษาสภาพและปัญหาทางการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียนของชาวกะเหรี่ยงเผ่าสะกอ เฉพาะกรณีบ้านผาแตก ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ วิธีการที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ การศึกษาเอกสารและการออกสำรวจภาคสนาม ซึ่งได้ใช้การสังเกตและการสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ กลุ่มผู้นำชุมชน ครู ผู้บริหารโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ทางราชการ ผลการวิจัยสรุปได้ว่า นโยบายรวมพวก (Intergration) ของรัฐ ซึ่งมุ่งให้การศึกษาเป็นปัจจัยในการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชาวเขากับสังคมไทยนั้น กระทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แม้จะได้รับสัญชาติไทย มีสิทธิทัดเทียมคนไทยทั่วไป แต่การปรับตัวเข้ากับสังคมไทยเป็นไปอย่างเชื่องช้า ชาวกะเหรี่ยงเผ่าสะกอบ้านผาแตกนี้ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นภาษา การแต่งกาย ความเชื่อ และการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามจารีตประเพณีกระเหรี่ยง ไม่มีการศึกษาในระบบโรงเรียน ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมและงานอาชีพให้แก่บุตรหลาน ทางราชการถือว่าเด็กกะเหรี่ยงเป็นเด็กคนไทย จึงให้สิทธิเข้ารับการศึกษาภาคบังคับตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 ในโรงเรียนของหมู่บ้าน ทางโรงเรียนประสบปัญหาด้านการใช้หลักสูตรและการสอนไม่สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น คุณภาพของการศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ สปช. ด้วยอุปสรรคด้านพื้นฐานทางวัฒนธรรมเป็นสำคัญ การปรับรูปแบบของการจัดการศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งซึ่งผสมผสานเข้ากับชีวิตในชุมชน คือ ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น