Abstract:
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ชำระเงิน และในกรณีที่ศาลพิพากษาให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ ทำให้เกิดปัญหาคือ ประการแรก กรณีที่ศาลพิพากษาให้หน่วยงานทางปกครองชำระ เงินแก่เอกชน หากหน่วยงานทางปกครองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลมิอาจบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของหน่วยงานทางปกครองได้ เพราะทรัพย์สินของฝ่ายปกครองไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ประการที่สอง กรณีที่ศาลพิพากษาให้หน่วยงานทางปกครองกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติวิธีการ บังคับคดีไว้สามวิธีคือ การขอให้ศาลสั่งบุคคลภายนอกให้กระทำการแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา การจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษา และการใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลไม่อาจนำวิธีบังคับคดีดังกล่าวมาใช้ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจาก การสั่งให้บุคคลภายนอกกระทำการแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นจะใช้ได้เฉพาะกรณีที่ศาลสิ'งให้หน่วยงานทางปกครองกระทำการที่โดยสภาพสามารถให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้ และถ้าศาลใช้วิธีการบังคับคดีโดยการจับกุมและกักขังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการของหน่วยงานทางปกครอง นอกจากนั้น ศาลมิอาจแสดงเจตนาแทนเจ้าหน้าที่ปกครองในการทำนิติกรรมทางปกครอง เพราะการทำนิติกรรมทางปกครองเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ดังนั้น การนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับกับคดีปกครองจึงไม่เหมาะสมและไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้จริง
ผู้เขียนเสนอให้นายกรัฐมนตรีวางระเบียบในการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครอง และควรบัญญัติกฎหมายกำหนดระยะเวลาให้หน่วยงานทางปกครองปฏิบัติตามคำพิพากษา หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ควรมีวิธีการบังคับคดี ดังนี้ในกรณีที่ศาลสั่งให้ราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนภูมิภาคชำระเงิน ควรให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิยื่น คำขอรับชำระหนี้จากกระทรวงการคลังได้โดยตรง สำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาคและหน่วยงานทางปกครองอื่น ควรกำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นมีหน้าที่เร่งดำเนินการชำระหนี้ตามคำพิพากษา หรือเร่งตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในกรณีที่เงินงบประมาณมีไม่เพียงพอ ส่วนกรณีที่ศาลสั่งให้หน่วยงานทางปกครองกระทำการหรืองดเว้นกระทำการที่สามารถให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้ ถ้าหน่วยงานปกครองไม่ยอมกระทำการ ควรกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลอื่นกระทำการแทนโดยให้หน่วยงานทางปกครองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าศาลสั่งให้กระทำการที่ไม่อาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ เมื่อหน่วยงานทางปกครองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ควรบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งปรับหน่วยงานทางปกครองเป็นรายวันจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา