Abstract:
ถึงแม้ว่าการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันฟันผุได้ แต่จากหลายการศึกษาพบว่าเด็กจะกลืนยาสีฟันในขณะแปรงฟัน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 500 และ 1,000 ส่วนในล้านส่วน ถึงความแตกต่างของประสิทธิภาพในการส่งเสริมกระบวนการสะสมกลับของแร่ธาตุที่ผิวฟันน้ำนม โดยการเปรียบเทียบค่าความแข็งผิวฟันที่เพิ่มขึ้นภายหลังการได้รับยาสีฟัน ในฟันน้ำนมจำนวน 108 ซี่ โดยตัดฟันหน้าน้ำนมให้ได้ขนาด 2x3 มิลลิเมตร ทำการขัดผิวเคลือบฟันจนเรียบและมันเงา และทำให้เกิดรอยผุจำลองโดยการแช่ชิ้นฟันในสารละลายดีมินเนอรัลไรเซชั่น (Demineralizing solution) ซึ่งประกอบด้วย กรดแลคติก 0.1 โมลาร์, กรดโพลีอะคริลิกความเข้มข้นร้อยละ 0.2 (Cabopol C907), ไฮดรอกซีแอพาไทท์ความเข้มข้นร้อยละ 50 pH 5.0 เป็นเวลา 22 ชั่วโมง และทำการวัดความแข็งผิวฟันด้วยเครื่องวัดความแข็งผิวฟันแบบจุลภาค เลือกชิ้นฟันที่มีค่าเฉลี่ยความแข็งผิวฟันระหว่าง 40-60 VHN แล้วนำมาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม (ไม่ได้รับยาสีฟันผสมฟลูออไรด์, 0 ส่วนในล้านส่วน) กลุ่มยาสีฟันผสมโซเดียมฟลูออไรด์ 500 ส่วนในล้านส่วน (Colgate junior) และกลุ่มยาสีฟันผสมโซเดียมฟลูออไรด์ 1,000 ส่วนในล้านส่วน (Colgate double cool stripe) โดยให้ค่าเฉลี่ยความแข็งผิวฟันของทั้งสามกลุ่มใกล้เคียงกัน จากนั้นนำมาเข้าการทดลองจำลองสภาวะภายในช่องปาก โดยในแต่ละวันชิ้นฟันจะถูกแช่ในยาสีฟัน 4 ครั้ง ครั้งละ 1 นาที และแช่ในสารละลายดีมินเนอรัลไรเซชั่น วันละ 2 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่เหลือจะแช่อยู่ในสารละลายรีมินเนอรัลไรเซชั่น (Remineralizing solution) (1:1, น้ำลายเทียม:น้ำลาย) ภายหลังทดลองครบ 14 วัน นำชิ้นฟันมาวัดค่าความแข็งผิวฟันภายหลังการทดลอง และทำการคำนวณหาค่าเฉลี่ยความแข็งผิวฟันที่เพิ่มขึ้น ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 1,000 ส่วนในล้านส่วน, กลุ่มยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 500 ส่วนในล้านส่วน และกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยความแข็งผิวฟันเพิ่มขึ้น +- ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากัย 134.03+-48.12 VHN, 1107.76+-30.70 VHN และ 18.03+-10.49 VHN ตามลำดับ เมื่อนำค่าเฉลี่ยความแข็งผิวฟันที่เพิ่มขึ้นมาทดสอบทางสถิติ เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความแข็งผิวฟันที่เพิ่มขึ้นของแต่ละกลุ่ม ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และการเปรียบเทียบเชิงซ้อน (Multiple comparison) ด้วยสถิติชนิดดันเนตที 3 (Dunnett T3) พบว่า ค่าเฉลี่ยความแข็งผิวฟันที่เพิ่มขึ้นของทั้งสามกลุ่ม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) จากผลการวิจัยสรุปได้ว่า ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 500 ส่วนในล้านส่วน มีผลต่อการเพิ่มความแข็งผิวฟันน้ำนมน้อยกว่ายาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 1,000 ส่วนในล้านส่วน