Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ ประการแรกคือ การหากลวิธีในการปฏิเสธที่ผู้พูดภาษาไทยใช้ในการตอบวัจนกรรมที่แสดงความปรารถนาดี และหาความสัมพันธ์ของการเลือกใช้กลวิธีเหล่านี้กับปัจจัย 2 ปัจจัย คือประเภทของวัจนกรรมที่แสดงความปรารถนาดีซึ่งได้แก่ การให้คำแนะนำ การเชิญ และการให้ข้อเสนอกับสถานภาพของคู่สนทนา ประการที่สองคือ การวิเคราะห์บทบาทของ '‘หน้า” ว่าเมื่อผู้ปฏิเสธใช้กลวิธีใดๆในการปฏิเสธ ผู้ปฏิเสธคำนึงถึงหน้าของตนเอง หรือหน้าของผู้ถูกปฏิเสธ ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้มาจากการ ทำแบบสอบถามที่ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นการเดีมเต็มบทสนทนา ซึ่งเป็นข้อมูลที่บอกกลวิธีทางภาษาที่ใช้ในการปฏิเสธ และส่วนที่เป็นการเลือกตัวเลือกที่เกี่ยวข้องกับ "หน้า” ของผู้ปฏิเสธและผู้ถูกปฏิเสธผู้ตอบแบบสอบถามเป็นคนไทยหลากหลายอาชีพจำนวน 50 คน ผลการวิจัยพบว่ากลวิธีทางภาษาที่แสดงการปฏิเสธในการตอบวัจนกรรมที่แสดงความปรารถนาดีมี 18 กลวิธี กลวิธีเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ กลวิธีในการปฏิเสธแบบตรง และ กลวิธีในการปฏิเสธแบบอ้อม กลวิธีในการปฏิเสธแบบตรงมี 2 กลวิธีได้แก่ การปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา การปฏิเสธโดยบ่งความไม่สามารถตอบสนอง สำหรับกลวิธีในการปฏิเสธแบบอ้อม มี 16 กลวิธี ได้แก่การให้เหตุผล การขอบคุณ การปลอบไม่ให้กังวล การขอโทษ การแสดงความลังเล การแสดงความยินดีและความปรารถนาดี การแนะนำ การแสดงความต้องการหรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้ปฏิเสธ การขอความเห็นใจจากผู้ถูกปฏิเสธ การชมเชย การ ผลัดผ่อนการให้คำตอบ การแสดงความเสียดายที่รับความปรารถนาดีไม่ได้ การแสดงความปรารถนาที่จะทำตาม การบอกทางเลือกอื่นของผู้ปฏิเสธ การตอบกึ่งตอบรับ การกล่าวติดตลก การเลือกใช้กลวิธีเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับปัจจัยประเภทของวัจนกรรมที่แสดงความปรารถนาดีทั้งสามประเภทข้างต้น และมีความสัมพันธ์กับปัจจัยสถานภาพของคู่สนทนาด้วยเช่นกัน โดยผู้พูดภาษาไทยจะเลือกใช้กลวิธีที่สอดคล้องกับบทบาทและอำนาจของผู้ปฏิเสธในสถานภาพต่าง ๆ ในการวิเคราะห์บทบาทของหน้าได้พบว่าผู้ปฏิเสธคำนึงถึงหน้าของผู้ถูกปฏิเสธมากกว่าหน้าของตนเองการเลือกใช้กลวิธีทั้ง 18 กลวิธีไม่มีความสัมพันธ์กับเรื่องของหน้าไม่ว่าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือไม่ว่าผู้ปฏิเสธจะคำนึงถึงหน้าของผู้ถูกปฏิเสธหรือหน้าของตนก็สามารถใช้กลวิธีเดียวกันได้