Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงลักษณะภาพตัวแทนของตัวละครที่ปรากฏในภาพยนตร์และการ์ตูนทางโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นจากการถอดรหัสของเด็กปฐมวัย (4-7 ปี) และเพื่อเข้าใจการถอดรหัสภาพตัวแทนจากภาพยนตร์และการ์ตูนทางโทรทัศน์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ และใช้แนวคิดภาพตัวแทน แนวคิดรหัสการ์ตูน แนวคิดการสื่อสารเชิงความเสมือน แนวคิดการสื่อสารเชิงตรรกะ ทฤษฎีเรียนรู้ทางสังคม และทฤษฎีพัฒนาการเด็กเป็นกรอบในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยมุ่งศึกษาจากภาพยนตร์และการ์ตูนทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเด็กปฐมวัย ทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่ ภาพยนตร์ญี่ปุ่น เรื่อง อุลตร้าแมน การ์ตูนญี่ปุ่น เรื่อง โดราเอมอน และโปรเกมอน และการ์ตูนจากประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่อง เดอะพาวเวอร์พัฟฟ์ เกิร์ล ผลการศึกษาพบว่าเด็กปฐมวัยสามารถถอดรหัสภาพตัวแทนที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์และการ์ตูนทางโทรทัศน์ได้แตกต่างกันออกไปตามบทบาทของตัวละครที่ปรากฏในแต่ละเรื่อง ทว่ามีภาพตัวแทนที่คล้ายคลึงกัน คือ ภาพแบบฉบับของคนดี ที่มีภาพตายตัวคือ การช่วยเหลือผู้อื่น การคิดดี ทำดี และภาพแบบฉบับของการเป็นคนร้าย ที่มีภาพตายตัวในการทำลายล้างบ้านเมือง ทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นภาพตัวแทนของการเป็นคนดี และคนร้ายดังกล่าว จึงกลายเป็นภาพตัวแทนในระดับของภาพต้นแบบอีกด้วย ประกอบกับปัจจัยหลักในการถอดรหัสภาพตัวแทนเหล่านั้น คือ การนำเสนอของสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง และบ่อยครั้ง โดยนำเสนอภาพหน้าตา บุคลิกลักษณะ และการกระทำของตัวละคร ผสมผสานกับเนื้อหาที่กำหนดบทบาทของตัวละคนแต่ละตัว ทั้งยังมีปัจจัยเสริมที่เกิดจากการอบรมสั่งสอนของการปลูกฝังค่านิยมของพ่อ แม่และผู้ปกครอง รวมไปถึงค่านิยมของสังคมไทย ตลอดจนพัฒนาการของเด็กปฐมวัยนั้นเป็นวัยที่มีจินตนาการสูง จึงสามารถรับรู้เรื่องราวที่เป็นความจริงเชิงสมมติได้เป็นอย่างดี เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการถอดรหัสภาพตัวแทนภาพยนตร์และการ์ตูนทางโทรทัศน์ของเด็กปฐมวัยทั้งสิ้น