Abstract:
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง (สนข.) ได้ศึกษาความเป็นไปได้โครงการพัฒนาศูนย์คมนาคมกรุงเทพฯด้านตะวันตกเฉียงใต้และโครงการรถไฟสายแม่กลองและส่วนต่อเนื่อง โดยต้องการพัฒนาเป็นศูนย์คมนาคมขนาดใหญ่ใช้รูปแบบการพัฒนาแบบผสม (mix-used development) จึงมีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาพื้นที่บริเวณศูนย์คมนาคมและบริเวณโดยรอบ โดยพื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่ย่านพาณิชยกรรมที่ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงฟื้นฟูเมือง(Redevelopment) จากสภาพทั่วไปที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก การพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่วในอนาคตมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย ผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษาผลระทบทางสังคมจากการปรับปรุงฟื้นฟู โดยประเมินผลกระทบและวิเคราะห์ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย เพื่อหาแนวทางลดผลกระทบทางสังคมได้อย่างเหมาะสม ผลการศึกษา พบว่าลักษณะทางสังคมภายในพื้นที่ศึกษามีทั้งเด็กและคนชรา ระยะเวลาอยู่อาศัยยาวนาน (มากกว่า51 ปีขึ้นไป) มีความผูกพันในพื้นที่ การปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่จึงส่งผลกระทบทางสังคมอย่างมากและจาก แผนการพัฒนาพื้นที่ที่ประกอบด้วยพื้นที่ศูนย์คมนาคมและโครงข่ายคมนาคมในอนาคตกับพื้นที่บริเวณรอบศูนย์คมนาคม ทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมที่แตกต่างกันเพื่อลดผลกระทบทางสังคมของ 2 บริเวณ มีดังนี้ บริเวณที่ 1 บริเวณที่พัฒนาเป็นศูนย์คมนาคมและโครงข่ายถนน แนวทางการพัฒนาพื้นที่จะใช้อำนาจในการเวนคืน (eminent domain) ทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมต่อผู้อยู่อาศัยอย่างมาก เพื่อลดผลกระทบทางสังคมของพื้นที่บริเวณนี้จึงมีการจัดทำแผนการโยกย้าย (relocation) แยกตามความเหมาะสมของครัวเรือน บริเวณที่ 2 บริเวณรอบศูนย์คมนาคม ซึ่งภายโนบริเวณที่ 2 มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันบ่งบอกถึงผลกระทบทางสังคมที่แตกต่างกัน จึงให้แนวทางการปรับปรุงพื้นฟูพื้นที่โดยใช้วิธีการทางผังเมืองมาปรับใช้ดามความเหมาะสมทางกายภาพและพิจารณาร่วมกับความสามารถในการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย โดยจะใช้วิธีรื้อสร้างใหม่ (redevelopment) การปรับปรุงโดยการบูรณะฟื้นฟู (rehabilitation) การปรับปรุงพื้นที่แบบรื้อและสร้างใหม่ในที่ดินเดิม (reconstruction) แต่ยังส่งผลให้มีประชาชนบางส่วนจำเป็นต้องโยกย้าย จึงควรจัดทำแผนโยกย้ายตามความเหมาะสมของครัวเรือนซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดผลกระทบทางสังคมได้ นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดองค์กรบริหารให้ชัดเจนเพื่อการบริหารด้านการเงิน มีการให้ความช่วยเหลือผู้อยู่อาศัย กำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ ละเอียดขึ้นหรือครอบคลุมมากขึ้นพร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อช่วยลดผลกระทบทางสังคมจากการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่