Abstract:
ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน และบุคคลต่าง ๆ ในธุรกิจรถแท็กซี่มิเตอร์ในกรุงเทพมหานครสามารถจำแนกได้ 2 ประเภท คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งประกอบไปด้วย นิติบุคคลรถแท็กซี่ เจ้าของอู่รถแท็กซี่ ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก ส่วนความสัมพันธ์อีกประเภท คือ ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับเอกชน โดยจะเป็นลักษณะการกำกับดูแล ทั้งการกำกับดูแลคุณภาพ ความปลอดภัยให้บริการ การเข้าสู่ธุรกิจรถแท็กซี่ และอัตราค่าโดยสาร จากการศึกษาพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนนั้นจะมีการนำเอาหลักกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาปรับใช้ เพราะไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นเช่าทรัพย์ รับขน ตัวการตัวแทน ละเมิด เป็นต้น แต่บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินงานในธุรกิจรถแท็กซี่ จึงก่อให้เกิดปัญหาขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่มีต่อผู้โดยสาร หรือบุคคลภายนอก เพราะไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันตามสัญญาใดๆ แต่มีการนำหลักตัวการตัวแทนมากำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ให้ร่วมรับผิดต่อผู้โดยสาร หรือบุคคลภายนอก ทั้งที่ไม่มีความสัมพันธ์ตามสัญญาตัวการ ตัวแทนแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าผิดหลักกฎหมายและก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนในการกำหนดความรับผิดในกรณีดังกล่าว ส่วนปัญหาของการกำกับดูแลที่สำคัญคือ กฎหมายที่บัญญัติออกมาไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้เลย เช่น การรวมกลุ่มกันประกอบการในรูปแบบนิติบุคคลนั้นเพื่ออาศัยข้อได้เปรียบในการประกอบการของนิติบุคคลทั้งจำนวนรถแท็กซี่ ที่มีได้มากกว่าบุคคลธรรมดาและการได้รับยกเว้นภาษีในกรณีของสหกรณ์เท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา อย่างเช่น ไม่มีการจดทะเบียนอู่รถแท็กซี่ เพราะถือว่าเป็นสมาชิกของนิติบุคคลรถแท็กซี่ ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว และอาจจะทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพในการให้บริการได้ จึงมีความเห็นว่าควรจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1.มาตรการระยะสั้น เมื่อยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ จึงต้องอาศัยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่าที่จะเอื้ออำนวยให้ 2.มาตรการระยะยาว ศึกษาวิจัยเพื่อที่จะบัญญัติกฎหมายซึ่งมีการกำหนดคำจำกัดความของบุคคลในธุรกิจรถแท็กซี่ และสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงาน และบุคคลต่างๆ ในธุรกิจรถแท็กซี่ เพื่อนำมาบังคับใช้กับธุรกิจรถแท็กซี่โดยเฉพาะ