Abstract:
วัตถุประสงค์หลักของการศึกษา คือ การทดสอบสมมติฐานอำนาจซื้อระหว่างประเทศ (Purchasing Power Parity Hypothesis : PPP) และกฎราคาเดียวระหว่างประเทศ (Law of One Price : LOP) ในเชิงประจักษ์ด้วยข้อมูลรายเดือนช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงเดือนตุลาคม ปี 1999 การทดสอบทำในรูปแบบที่พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้าของประเทศไทยกับราคาสินค้าของต่างประเทศที่แปลงมาอยู่ในรูปสกุลเงินบาทแล้ว ภายใต้มุมมองที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก และวิธีการทดสอบทางเศรษฐมิติที่ใช้ คือ Cointegration Method การทดสอบสมมติฐานอำนาจซื้อระหว่างประเทศเป็นการทดสอบด้วยราคาสินค้ารวมของประเทศ ขณะที่การทอสอบสมมติฐานอำนาจซื้อระหว่างประเทศเป็นการทดสอบด้วยราคาสินค้ารวมของประเทศ ขณะที่การทดสอบกฎราคาเดียวเป็นการทดสอบด้วยราคาสินค้ารายกลุ่มสินค้าย่อยและรายชนิดสินค้า เกณฑ์หรือเงื่อนไขในการสนับสนุน PPP และ LOP คือ การที่ค่าสัมประสิทธิ์ความยืดหยุ่นของราคาสินค้าในประเทศไทยต่อราคาสินค้าของต่างประเทศที่แปลงมาอยู่ในรูปสกุลเงินบาทแล้วมีค่าอยู่ในช่วง 0.75-1.25 และค่า R² มีระดับอย่างน้อยเท่ากับ 0.8 พร้อมกันนี้ควรยอมรับว่ามี Cointegration Relationship ระหว่างราคาสินค้าในประเทศไทยกับราคาสินค้าของต่างประเทศที่แปลงมาอยู่ในรูปสกุลเงินบาทแล้ว การศึกษาพบว่าผลการทอสอบด้วยข้อมูลช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงเดือนตุลาคม ปี 1999 สนับสนุน PPP 10 กรณีจากทั้งหมด 33 กรณีทดสอบ ผลการทดสอบ LOP ใน 20 กลุ่มสินค้าย่อย สนับสนุน LOP 27 กรณี จากทั้งหมด 151 กรณีทดสอบ ส่วนผลการทดสอบ LOP ใน 67 ชนิดสินค้า สนับสนุน LOP 33 กรณี จากทั้งหมด 169 กรณีทดสอบ ดังนั้นโดยรวมแล้วจึงสนับสนุน PPP และ LOP ได้ในระดับที่ไม่สูงนักและพบว่าผลการทดสอบอ่อนไหวต่อขนาดข้อมูลและช่วงเวลาที่ทดสอบ การทดสอบโดยใช้ข้อมูลที่มีความครอบคลุมช่วงเวลายาวนานมักให้ผลการทดสอบที่สนับสนุน PPP และ LOP มากกว่าข้อมูลช่วงสั้น ๆ การทดสอบด้วยข้อมูลขนาดเล็กในช่วงที่มีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในระดับสูงมักให้ผลการทดสอบปฏิเสธ PPP และ LOP ซึ่งบ่งชี้ถึงการปรับตัวที่เชื่องช้าของราคาสินค้าในประเทศไทยเพื่อที่จะตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าของต่างประเทศอย่างไรก็ตามยิ่งข้อมูลราคาสินค้าที่ทดสอบมีนิยามที่แคบและสอดคล้องกันระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศที่ทดสอบด้วยมากเท่าไร ความสัมพันธ์ที่ราคาสินค้าในไทยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปในอัตราเดียวกันกับราคาสินค้าของต่างประเทศที่ทดสอบด้วยก็ยิ่งมีความอ่อนไหวต่อช่วงเวลาและขนาดข้อมูลที่ทดสอบน้อยลงเพียงนั้น ประโยชน์ที่สำคัญของผลการศึกษา PPP และ LOP ต่อการวางนโยบายทางเศรษฐกิจ คือ การใช้ค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้าของประเทศไทยกับราคาสินค้าของต่างประเทศที่แปลงมาอยู่ในรูปสกุลเงินบาทแล้วเป็นเครื่องชี้ทิศทางโดยทั่วไปในระยะยาวของราคาสินค้าภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยในการประเมินผลกระทบและความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อราคาสินค้า