Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้ต้องการศึกษากระบวนการแยกผู้ผลิตออกจากปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากระบบทุนนิยม และศึกษาผ่านกระบวนการเลี้ยงช้างของจังหวัดสุรินทร์ โดยการสัมภาษณ์คนทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลี้ยงช้าง เช่น ควาญช้าง เจ้าของช้างรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย นักการเมือง เป็นต้น เพื่อพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดกระบวนการแยกผู้ผลิตออกจากการควบคุมปัจจัยการผลิต ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงาน และในที่สุดได้เป็นสาเหตุของการต่อสู้ทางชนชั้นด้วยวิธีการต่างๆ นานา ผลการศึกษาพบว่า ทุนและรัฐได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการเลี้ยงช้างของจังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากต้องการขยายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกิจการป่าไม้ เพื่อสะสมทุน จนกระทั่งปัจจุบันกระบวนการเลี้ยงช้างได้ขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมการเลี้ยงช้างขนาดใหญ่ เห็นได้จากในแต่ละปีปริมาณการเลี้ยงช้างมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์นี้เกิดจากการที่ทุนกดขี่และเอารัดเอาเปรียบแรงงานรับจ้างเลี้ยงช้าง กล่าวคือ ทุนใช้ระบบการควบคุมแรงงานทางเศรษฐกิจทั้งการให้รางวัลและการลงโทษแต่กรณีลงโทษมีการกระทำอย่างเข้มงวด เช่น การจ่ายค่าจ้างในลักษณะค่าทิปและค่าหางตั๋วมากกว่าเงินเดือน เพื่อเพิ่มอัตราเร่งการผลิตสินค้าในรูปแบบการให้บริการ การกดค่าจ้างให้ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การดุด่า ตี เป็นต้น ระบบการควบคุมแรงงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้ใช้แรงงานตกอยู่ภายใต้กรอบความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำทางอำนาจ นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบว่า ผู้ที่เป็นแรงงานรับจ้างในอุตสาหกรรมเลี้ยงช้าง ซึ่งทำงานให้กับทุนและรัฐ คือ ควาญช้าง และเจ้าของช้างรายย่อย เนื่องจากควาญช้างเป็นผู้ที่ไม่มีปัจจัยการผลิต ทำให้ต้องขายพลังแรงงานให้กับทุน ส่วนกรณีเจ้าของรายย่อยพบว่า ถึงแม้ว่าเจ้าของช้างรายย่อยยังคงมีปัจจัยการผลิต แต่ระบบทุนนิยมไม่เปิดโอกาสให้เจ้าของช้างทุกรายสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน ทำให้เจ้าของช้างรายย่อย ซึ่งมีปัจจัยทุนไม่เพียงพอ ต้องนำช้างออกรับจ้างทำงานกับทุนในสถานที่แสดงช้างต่างๆ และตกอยู่ภายใต้กฎระเบียบ การควบคุมที่เข้มงวด เหตุการณ์นี้ได้สร้างร่องรอยของความขัดแย้งทางชนชั้นและการก่อตัวทางชนชั้นระหว่างชนชั้นแรงงานกับทุนและรัฐในฐานะเครื่องมือของทุน ส่งผลให้แรงงานรับจ้างต่อสู้กับทุนและรัฐในรูปแบบการต่อสู้ทั้งระดับปัจเจกซึ่งมีลักษณะกระจัดกระจาย และระดับการจัดตั้งอย่างหลวมๆ และการต่อสู้ทั้งสองรูปแบบนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้น ที่มีพลวัตการต่อสู้แบบขึ้นๆลงๆอ่อนแอและเข้มแข็ง