Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างแบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม 2) ศึกษาความครอบคลุมและความเป็นไปได้ของแบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์ในการใช้สอนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 3) ศึกษาผลการทดลองใช้แบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้วิธีการศึกษากึ่งทดลอง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม ปี การศึกษา 2536 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ แบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแบบวัดความพึงพอใจ นักเรียนกลุ่มทดลองจำนวน 4 กลุ่ม แบ่งออกเป็นกลุ่มที่มีความสามารถทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ระดับค่อนข้างเก่งจำนวน 43 คน ระดับปานกลางจำนวน 35 คน ระดับค่อนข้างอ่อนจำนวน 25 คน และระดับอ่อนจำนวน 16 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 119 คนโดยนักเรียนทั้ง 4 กลุ่มได้ใช้แบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ที่ผู้วิจัยสร้างและผ่านการตรวจจากผู้ทรงคุณวุฒิเรียบร้อยแล้ว การวิเคราะห์ทางสถิติใช้สถิติทดสอบที (t-test) ผลการวิจัย 1. ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนพบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลังการทดลองใช้แบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยนักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ในระดับค่อนข้างเก่งและระดับปานกลางจะมีคะแนนพัฒนาการด้านความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์สูงขึ้น 2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพึงพอใจต่อประสบการณ์ที่ได้รับจากการใช้แบบึกหัดวิชาคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั้ง 4 กลุ่ม ในด้านต่าง ๆ พบว่า 2.1 ด้านความชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั้ง 4 กลุ่ม หลังการใช้แบบฝึกหัดสูงกว่าก่อนใช้แบบฝึกหัดอยู่ในระดับค่อนข้างมากถึงระดับมาก 2.2 ด้านความรู้สึกที่มีต่อแบบฝึกหัดของนักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ในระดับค่อนข้างเก่งและระดับปานกลางจะมีความรู้สึกชองต่อแบบฝึกหัดอยู่ในระดับมาก 2.3ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับ - ความสนใจต่อแบบฝึกหัด นักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับค่อนข้างเก่ง ปานกลาง และค่อนข้างอ่อน จะมีความสนใจอยู่ในระดับค่อนข้างมากถึงระดับมาก ในขณะที่นักเรียนที่เรียนในระดับอ่อนมีความสนใจอยู่ในระดับเฉย ๆ จนถึงระดับค่อนข้างมาก - ความยากง่ายของแบบฝึกหัด นักเรียนที่เรียนค่อนข้างเก่งเห็นว่าแบบฝึกหัดนี้ไม่ยาก ในขณะที่นักเรียนที่เรียนในระดับค่อนข้างอ่อนและระดับปานกลางเห็นว่าแบบึกหัดนี้มีความยากง่ายตั้งแต่ค่อนข้างน้อยถึงค่อนข้างมาก - ความสนุกในการใช้แบบฝึกหัด นักเรียนทั้ง 4 กลุ่ม มีความคิดเห็นว่าแบบฝึกหัดมีความสนุก ตั้งแต่ค่อนข้างน้อยถึงระดับมาก ตามระดับความสามารถทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนระดับอ่อน ระดับค่อนข้างอ่อน ระดับปานกลาง และระดับเก่ง 2.4 ด้านเนื้อหาที่นำมาใช้ในการทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับจำนวนเนื้อหา นักเรียนที่เรียนค่อนข้างเก่งและระดับปานกลางมีความคิดเห็นในระดับเฉย ๆ ถึงค่อนข้างมาก ส่วนนักเรียนที่เรียนอ่อนมีความคิดเห็นในระดับเฉย ๆ ถึงระดับมาก สำหรับความชัดเจนของแบบฝึกหัด นักเรียนที่เรียนค่อนข้างเก่งและปานกลางมีความคิดเห็นว่ามีความชัดเจนค่อนข้างมาก ส่วนความเข้าใจในบทเรียนหลังจากที่ใช้แบบฝึกหัดนี้ไปแล้ว นักเรียนที่เรียนค่อนข้างเก่งและปานกลางมีความคิดเห็นว่าเข้าใจบทเรียนดีขึ้นมาก ในขณะที่นักเรียนที่เรียนค่อนข้างอ่อนและอ่อนมีความคิดเห็นว่าเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้นในระดับค่อนข้างมากถึงระดับมาก 2.5 ด้านความต้องการให้โรงเรียนและครูผู้สอนนำแบบฝึกหัดนี้ไปใช้กับรุ่นน้องในปีการศึกษาต่อไป นักเรียนทั้ง 4 กลุ่ม มีความคิดเห็นตรงกันว่าควรนำไปใช้ในระดับค่อนข้างมากถึงระดับมาก 3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนหญิงในภาคต้นและภาคปลายแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในภาคปลายสูงกว่าภาคต้น 4. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชายมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยที่คะแนนความสามารถในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์หลังจากใช้แบบฝึกหัดของนักเรียนชายสูงกว่าก่อนใช้แบบฝึกหัด