Abstract:
การศึกษามูลเหตุแห่งความเสียเปรียบเชิงที่ตั้งของสุพรรณบุรีภายใต้สมมติฐานที่ว่า การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งของเมืองหลวงและระบบการเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งในระดับต่าง ๆ ทำให้สุพรรณบุรีมีความเสียเปรียบเชิงที่ตั้งและลดบทบาทลงมาโดยลำดับ ทั้งที่เคยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในสมัยโบราณ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาสืบค้นถึงความรุ่งเรืองของสุพรรณบุรี และความถดถอยความเจริญมาตลอด เนื่องมาจาก เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เละการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ ค้นหาสภาพและบทบาทของสุพรรณบุรีในปัจจุบันเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น ดำเนินการศึกษาโดยใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้งจากแหล่งข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเครื่องมือในการยืนยันการเป็นแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานสำคัญของสุพรรณบุรี การวิเคราะห์พื้นที่สุพรรณบุรี เปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นที่มีลักษณะที่ตั้งสามารถเปรียบเทียบกันได้ ผลการศึกษา การเสียเปรียบเชิงที่ตั้งของสุพรรณบุรี เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลง เมืองหลวงจากพระนครศรีอยุธยามาเป็นกรุงเทพฯ ทำให้ระบบของพื้นที่เปลี่ยนไป ภายหลังเมื่อมีการสร้างโครงข่ายการคมนาคมทางบกทั่วประเทศส่งผลต่อทำเลที่ตั้งของสุพรรณบุรีอย่างมาก เพราะการคมนาคมเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของเมือง สถานะการพัฒนาของสุพรรณบุรีอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นที่อื่นในภาคตะวันตก เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่มีลักษณะที่ตั้งคล้ายคลึงกัน คือ ราชบุรี อยุธยา สระบุรี นครนายก และ ปราจีนบุรี พบว่าสถานะการพัฒนาของพื้นที่ดังกล่าวเรียงตามลำดับจากมากไปน้อยเป็นดังนี้คือ สระบุรี ราชบุรี อยุธยา นครนายก สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี จึงเสนอให้พัฒนาสุพรรณบุรีเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปสินค้าการเกษตรจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและความได้เปรียบในระยะทางที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดกรุงเทพมหานคร ตลอดจนส่งเสริมบทบาทด้านการท่องเที่ยวในฐานะที่เคยเป็นศูนย์กลางสำคัญในอดีต