Abstract:
เขตพระโขนงเป็นเขตหนึ่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะขยายตัวทาง ด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น และจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจเลือกที่ตั้งบริเวณใดก็เป็นการลำบากในการโยกย้าย ดังนั้น การเลือกพื้นที่จึงเป็นปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง แต่ทว่า การกระจายตัวของโรงงานมักจะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม การทราบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกที่ตั้งของโรงงาน จึงมีประโยชน์โดยตรงต่อการกำหนดเขตอุตสาหกรรม หรือปรับปรุงย่านอุตสาหกรรมที่มีอยู่ให้เหมาะสม การศึกษาประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลโรงงานที่มีแรงงาน 7 คนขึ้นไปในทุกแขวงของเขตพระโขนง รวม 1, 303 แห่ง และสุ่มตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ จำนวน 400 แห่ง โดยใช้แบบสอบถามเพื่อทราบถึงลักษณะสภาพทั่วไปของโรงงานเกี่ยวกับองค์ประกอบทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมของผู้ประกอบการ ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ใช้แนวความคิด 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ การประหยัดภายนอกในตัวเมือง การ ประหยัดภายนอกในอุตสาหกรรม และการเลือกที่ตั้งโดยไม่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 3 แนวความคิดนี้ ประกอบด้วยปัจจัย 11 ตัวที่ใช้ศึกษา ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง แรงงาน สาธารณูปโภค การธนาคาร ตลาด วัตถุดิบ ราคาที่ดิน ทำมาแต่เดิม ใกล้ญาติพี่น้อง เหตุผลส่วนตัว และใกล้โรงงานที่ผลิตสินค้าคล้ายคลึงกัน ผลการศึกษา พบว่า แนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อการเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพระโขนง อันดับแรก คือ การประหยัดภายนอกในตัวเมือง รองลงมาได้แก่ การประหยัดภายนอกในอุตสาหกรรม และการเลือกที่ตั้งโดยไม่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจ สำหรับปัจจัยต่าง ๆ พบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญ 5 อันดับแรก คือ การคมนาคมขนส่ง ตลาด วัตถุดิบ แรงงาน และราคาที่ดิน นอกจากนี้ ยังได้ทำการทดสอบความมีนัยสำคัญทางสถิติเชิงอิสระหรือไม่อิสระ โดยวิธีไคว์-สแควร์ ระหว่าง ปัจจัยต่าง ๆ กับ ตัวแปรด้านแขวงต่าง ๆ ในเขตพระโขนง ขนาดของโรงงาน และประเภทอุตสาหกรรม ผลการทดสอบพบว่า ปัจจัยต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กับขนาดโรงงาน แต่เป็นอิสระกับแขวงและประเภทอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงนำความรู้จากผลการศึกษาดังกล่าว ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ทางด้านอุตสาหกรรมของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร มาเสนอแนะแนวทางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไว้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 สำหรับอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม ให้พัฒนาการใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรณีที่ 2 จัดย่านอุตสาหกรรมหรือ เขตสำหรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ ให้ดำเนินการในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้ง 2 กรณี ควรจะมีมาตรการดำเนินการควบคู่พร้อมกันไป จึงจะทำให้การใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย