Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้าและความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านจิต-สังคม กับภาวะซึมเศร้าของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,700 คน แบ่งเป็นชาย 799 คน หญิง 901 คนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบวัดภาวะซึมเศร้า CES - D Scale, แบบสอบถามการรับรู้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และแบบสอบถามการปรับตัวทางสังคม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้สถิติ Chi - square test, t-test และ Multiple linear regression โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS / FW ผลการวิจัยพบว่า 1. ความชุกของภาวะซึมเศร้าในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เมื่อใช้จุดตัดคะแนน > 16 เท่ากับร้อยละ 60.5 ความชุกในนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย คือ ร้อยละ 63.4 และร้อยละ 57.2 ตามลำดับ และเมื่อใช้จุดตัดคะแนนที่ > 22 พบความชุกร้อยละ 28.8 คิดเป็นนักเรียนหญิงร้อยละ 31.2 และนักเรียนชายร้อยละ 26.2 2. นักเรียนร้อยละ 25.6 เคยคิดฆ่าตัวตายและร้อยละ 5.7 เคยพยายามฆ่าตัวตาย นักเรียนหญิงมีความคิดและการพยายามฆ่าตัวตายมากกว่านักเรียนชายคือร้อยละ 62.84 และ 37.16 ของความคิดฆ่าตัวตายและร้อยละ 58.76 และ 41.24ของการพยายามฆ่าตัวตาย 3. ปัจจัยด้านเพศ ผลการเรียน จำนวนพี่น้อง เศรษฐานะของครอบครัวและการอยู่ร่วมกับบิดา-มารดาจริง มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .001 4. นักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้าและไม่มีภาวะซึมเศร้า มีค่าคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยนักเรียนที่ไม่มีภาวะซึมเศร้า มีค่าคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสัมพันธ์ในครอบครัวสูงกว่านักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้า 5. นักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้าและไม่มีภาวะซึมเศร้ามีคะแนนเฉลี่ยของการปรับตัวทางสังคม (การปรับตัวกับเพื่อนและครู) ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 นักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้า มีค่าคะแนนเฉลี่ยในการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนและครูสูงกว่านักเรียนที่ไม่มีภาวะซึมเศร้า