Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาลักษระวัฒนธรรมในองค์กรกับพัฒนาการและการปรับตัวในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของหนังสื่อพิมพ์บ้านเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2515-2543 โดยพิจารณาทั้งในด้านโครงสร้างองค์กร ด้านการตลาดการจัดจำหนาย และด้านรูปแบบเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองอาจแบ่งออกเป็น 3 ยุคพิจารณาตามยุคของผู้บริหารกองบรรณาธิการ โดยยุคที่ 1 มีการขยายตัวสูงในทุก ๆ ด้าน เช่น การขยายตัวของสินทรัพย์ การขยายตัวด้านผลประกอบการองค์กร ส่วนยุคที่ 2 และยุคที่ 3 เป็นช่วงที่องค์กรมีปัญหาด้านการบริหาร และความขัดแย้งในองค์กร ทำให้องค์กรเผชิญหน้ากับภาวะถดถอย รวมทั้งการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศส่งผลกระทบต่อหนังสือพิมพ์บ้านเมือง แต่องค์กรก็สามารถประคองตัวอยู่ได้ จนถึงเดือนพฤษภาคม 2543 ก่อนปิดตัวลง เพื่อทำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ใหม่ ภายใต้ชื่อบริษัท วิเคราะห์บ้านเมือง จำกัด และต้องปิดตัวลงชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองก่อนเปิดดำเนินการใหม่อีกครั้งในวันที่ 1 กันยายน 2543 ปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมในองค์กร ไม่ว่าการมีนายทุนเป็นนักการเมืองใหญ่อยู่เบื้องหลัง การบริหารแบบอนุรักษ์นิยม หรือแบบวงศาคณาญาติ ได้กลายเป็นปัจจัยภายในที่เป็นทั้งจุดอ่อน และจุดแข็งที่มีผลกระทบต่อพัฒนการ และการปรับตัว จากการประเมินพบว่าวัฒนธรรมบางอย่างขององค์กรมีส่วนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีนายทุนที่มักมองอนาคนในเชิงธุรกิจมากกว่าบทบาททางสังคม เมื่อต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจได้ระยะหนึ่ง จำต้องปิดตัวลงในที่สุด ส่วนปัจจัยภายนอกเช่นเหตุการณ์ข่าว คู่แข่งขันในตลาดหนังสือพิมพ์ และสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองก็มีผลต่อพัฒนาการและการปรับตัว เช่น การที่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองมีนโยบายทำหนังสือพิมพ์แบบอนุรักษ์ ซึ่งไม่สนองตอบต่อความต้องการของตลาด ทำให้เกิดการขาดทุนสูง จนนายทุนต้องหาผู้ดำเนินการรายใหม่ และเปลี่ยนแนวหนังสือพิมพ์เพื่อค้นหาเอกลักษณ์ใหม่