Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์คำเรียกรสในภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราชโดยการจำแนกประเภทและวิเคราะห์ความหมายด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบเพื่อหาระบบของคำชุดนี้ รวมทั้งเปรียบเทียบระบบของคำเรียกรสในภาษาไทยทั้ง 4 ถิ่น เพื่อระบุลักษณะของความต่างและความเหมือน ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้บอกภาษาไทยกรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราชกินละ 5 คนด้วยการถามคำถามเพื่อให้ผู้บอกภาษาระบุรสของอาหาร 150 ประเภท ผลการวิจัยพบว่า ในภาษาไทย 4 ถิ่นมีคำเรียกรสพื้นฐานที่แสดงประเภทรส 8 ประเภทเหมือนกัน โดยคำเรียกรสดังกล่าวได้แก่คำเรียกรสประเภท เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม เผ็ด รีด ฝาด และ มัน ภาษาไทยบางถิ่นมีประเภทรสพื้นฐานมากกว่าถิ่นอื่นๆ คือ ภาษา1ไทยเชียงใหม่มีคำเรียกรสพื้นฐานเรียกประเภทรสขื่นและเฝื่อน และภาษาไทยอุบลราชธานีมีการใช้คำเรียกรสพื้นฐานเรียกประเภทรสขื่น เฝื่อนและฮึน คำเรียกรสพื้นฐานทั้งหมดที่พบมี ความหมายแตกต่างกันด้วย 8 มิติแห่งความแตกต่าง ได้แก่ ปุ่มรับรสและตำแหน่งของปุ่มรับรส ความเป็นกรด รส ลิ้น ความแสบร้อน ความผะอืดมะอม ความชาลิ้น การรับรู้ทางจมูก และความมัน เมื่อพิจารณาคำเรียกรสไม่พื้นฐานและกลวิธีการสร้างคำเรียกรสไม่พื้นฐานในภาษาไทย 4 ถิ่นแล้ว ผู้วิจัย พบว่า ภาษาไทยโดยรวมมีกลวิธีการสร้างคำเรียกรสไม่พื้นฐานทั้งหมด 6 กลวิธี ได้แก่ 1) การผสมคำเรียกรสพื้นฐานสองคำเข้าด้วยกันเพื่อระบุคุณสมบัติของเนื้อรส เช่น เปรี้ยวหวาน 2) การผสมคำว่า “ออก” กับคำเรียกรสพื้นฐานเพื่อระบุความเข้มข้นน้อยของรส เช่น ออกเผ็ด 3) การผสมคำเรียกรสพื้นฐานกับคำขยายแสดงการรับรู้ทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ เช่น จืดหอม 4) การซ้ำคำแบบเสียงวรรณยุกต์ไม่เปลี่ยนเพื่อระบุความไม่เข้มข้นของรส เช่น ขื่น ๆ 5) การผสมคำเรียกรสขยายเพื่อบอกความเข้มข้นของรส เช่น หวานเจี๊ยบ และ 6) การซ้ำคำแบบเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนเพื่อระบุความเข้มข้นมากของรส เช่น เฟื้อน-เฝื่อน ทั้งนี้ ภาษาไทยแต่ละถิ่นมีการเลือกใช้กลวิธีมากน้อยแตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบรสเด่นในแต่ละถิ่นพบว่าในภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราชมีรสเด่นคือ หวาน เปรี้ยว เปรี้ยว และเผ็ดตามลำดับ รสเด่นในแต่ละถิ่นเป็นรสที่มีที่มาจากอาหารสมุนไพร หรือพืชผักที่มีอยู่มากและ หาได้ง่ายในท้องถิ่น นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้บอภาษาไทยทั้ง 4 ถิ่นมีทัศนคติด้านบวกต่อรสมัน ส่วนทัศนคติในด้านลบพบว่าผู้บอกภาษาไทยถิ่นเชียงใหม่มีทัศนคติในด้านลบต่อรสขื่นและรสเฝื่อน ผู้บอกภาษาไทยอุบลราชธานีทัศนคติในด้านลบต่อรสขื่น รสเฝื่อน และรสฮึน ผลการศึกษาคำเรียกรสในภาษาไทย 4 ถิ่นแสดงให้เห็นได้ว่า การที่กลุ่มคนที่มีถิ่นที่อยู่ซึ่งมีสภาพทางภูมิศาสตร์ต่างกัน แม้ว่าอยู่ในชาติเดียวกัน สื่อสารกันเข้าใจ ย่อมมีคำเรียกรสแตกต่างกันได้เนื่องจากมีทรัพยากร อาหารและวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกัน