Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาธรรมนูญอาญาระหว่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้กระทำการก่ออาชญากรรมที่มีความร้ายแรงมาก โดยที่ผ่านมาในอดีตนั้น มีหลายครั้งที่บุคคลผู้กระทำความผิดเหล่านี้ไม่ได้รับการลงโทษ หรือมีการนิรโทษกรรมตนเองเพื่อให้พ้นโทษ การจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการนำตัวบุคคลผู้กระทำความผิดเหล่านี้มาดำเนินคดี โดยมีเงื่อนไขว่าศาลอาณาระหว่างประเทศจะดำเนินการรับพิจารณาคดีในกรณีที่รัฐที่มีเขตอำนาจศาลเหนือบุคคลนั้นไม่ตั้งใจที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษหรือไม่สามารถที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดได้ จากเหตุผลที่ว่าการกระทำอาชญากรรมร้ายแรงต่อประชาคมระหว่างประเทศ ไม่อาจหลุดพ้นจากการลงโทษ และการฟ้องร้องดำเนินคดีเหล่านี้จะได้รับการประกันในระดับมาตรฐานของประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงได้รับแรงผลักดันให้ก่อตั้งขึ้นโดยที่ ประชุมผู้แทนทางการทูตของประเทศต่าง ๆ ในการประชุมสรุปการพิจารณารับร่างธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยเสียงข้างมากของที่ประชุม ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศนี้บัญญัติเงื่อนไขการก่อตั้งศาลนี้ว่าจะต้องได้รับสัตยาบันจากรัฐภาคี ครบ 60 ประเทศ เสียก่อนศาลจึงจะดำเนินการได้ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และได้ดำเนินการลงนามในธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศนี้แล้ว การจะให้สัตยาบันแก่ธรรมนูญศาลนี้ ประเทศไทยจะต้องตระหนักและประเมินถึงพันธกรณีทั้งหลายอันจะเกิดขึ้นจากบทบัญญัติของธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมถึงพันธกรณีที่จะต้องให้ความร่วมมือกับศาล ไม่เพียงแต่มีพันธกรณีที่จะต้องมีความตกลงช่วยเหลือกันในด้าน กฎหมาย และการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ประเทศไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแก่องค์การระหว่างประเทศได้ แต่ประเทศไทยจะต้องพินิจพิเคราะห์ถึงกฎหมายทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องเพราะว่ามีผลกระทบทางกฎหมายหลาย ๆ ประการเกี่ยวข้องกับการที่จะเป็นภาคีของธรรมนูญนี้เช่น ประเด็นเกี่ยวกับความคุ้มกันของประมุขของรัฐ ประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลของประเทศไทย ประเด็กระบวนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยสอดคล้องกับธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศรวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ประเทศไทยจะต้องพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าวจากการเป็นรัฐภาคีก่อนที่จะให้สัตยาบันแก่ธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ.