Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ก) ศึกษาประเภทสถิติที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยจัดเก็บ วิธีการเก็บสถิติและการใช้ประโยชน์จากสถิตินั้น ข) ศึกษาวิธีการเผยแพร่และปัญหาในการเก็บสถิติของห้องสมุดมหาวิทยาลัย การวิจัยครั้งนี้ทำให้ผู้บริหารสถาบันและผู้บริหารห้องสมุดตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของสถิติห้องสมุด สำหรับบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะได้ทราบถึงประเภทสถิติห้องสมุด วิธีเก็บสถิติ การใช้ประโยชน์ และการเผยแพร่สถิติของห้องสมุดอื่น นอกจากนี้ได้เสนอรูปแบบในการเก็บสถิติของห้องสมุดมหาวิทยาลัยให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ในการวิจัยครั้งนี้ ใช้แบบสอบถาม 2 ชุด คือ ชุดแรกสอบถามหัวหน้าห้องสมุดมหาวิทยาลัย สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ทั้งหมด 16 แห่ง แบบสอบถามชุดที่ 2 สอบถามบรรณารักษ์หัวหน้างานแต่ละฝ่ายในห้องสมุดดังกล่าว จำนวน 95 ชุด โดยสอบถามจาก หัวหน้างานธุรการ งานพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด งานวิเคราะห์เลขหมู่และทำบัตรรายการ งานวารสารและเอกสาร งานโสตทัศนวัสดุและงานบริการ รวมแบบสอบถามทั้งสิ้น 111 ชุด ได้รับแบบสอบถามคืนมา 110 ชุด คิดเป็นร้อยละ 99.10 นอกจากนี้ได้สัมภาษณ์หัวหน้าห้องสมุดและบรรณารักษ์หัวหน้างานห้องสมุด ในเขตกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งผลการวิจัยปรากฎดังนี้ 1. ประเภทสถิติที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยจัดเก็บพบว่า ห้องสมุดมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ตอบแบบสอบถาม (15 แห่ง) เก็บสถิติงานพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด งานเทคนิค งานวารสารและเอกสาร งานบริการ และงานโสตทัศนวัสดุ ส่วนงานที่มีการเก็บสถิติในห้องสมุดน้อย คือ งานห้องสมุดคณะ มีห้องสมุด 6 แห่งที่เก็บสถิตินี้ 2.วิธีการเก็บสถิติของห้องสมุดมหาวิทยาลัยพบว่า ห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ (14 แห่ง) กำหนดให้บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรับผิดชอบเก็บสถิติเฉพาะงานของตน จากนั้นจึงนำสถิติที่จัดเก็บส่งให้บรรณารักษ์หัวหน้างานเพื่อรวบรวมเป็นสถิติของฝ่ายต่อไป 3. การใช้ประโยชน์จากสถิติห้องสมุดมหาวิทยาลัย มีผู้ใช้ประโยชน์จากสถิติที่จัดเก็บ 2 กลุ่ม คือ หัวหน้าห้องสมุดและบรรณารักษ์หัวหน้างาน ในส่วนของหัวหน้าห้องสมุดพบว่า มีการใช้ประโยชน์จากสถิติห้องสมุด เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการเสนอขอบุคลากร ของบประมาณ และประกอบการพิจารณาแก้ไข ปรับปรุงงานห้องสมุด ในขณะที่กลุ่มบรรณารักษ์หัวหน้างาน นำสถิติที่จัดเก็บไปใช้ประโยชน์ในการรายงานความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานในแผนกมากที่สุด รองลงมาคือ การใช้สถิติเพื่อพิจารณาแก้ไข ปรับปรุงในแผนก เสนอของบประมาณ ขอบุคลากรและประเมินผลงานของบุคลากรในแผนก 4. วิธีการเผยแพร่สถิติห้องสมุด พบว่า มีห้องสมุดที่เผยแพร่สถิติ 10 แห่ง (จากห้องสมุดผู้ตอบทั้งหมด 15 แห่ง) โดยห้องสมุดที่เผยแพร่สถิตินั้นมีห้องสมุด 5 แห่ง เผยแพร่โดยการพิมพ์สถิติรวมไว้ในรายงานประจำปีของสถาบัน ห้องสมุด 4 แห่ง พิมพ์ลงในวารสารที่ออกโดยห้องสมุด ห้องสมุด 2 แห่งพิมพ์เป็นแผ่นปลิว ห้องสมุด 1 แห่ง จัดพิมพ์ส่งฝ่ายบริหาร และอีก 1 แห่งพิมพ์เสนอคณะกรรมการห้องสมุด นอกจากนี้มีห้องสมุดบางแห่งเผยแพร่สถิติห้องสมุด โดยเสนอในที่ประชุมกรรมการห้องสมุด และเสนอเป็นกระดานสถิติ 5. ปัญหาในการเก็บสถิติห้องสมุดมหาวิทยาลัย พบว่า ห้องสมุดประสบปัญหาในการเก็บสถิติในระดับปานกลาง และน้อย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการไม่มีเวลา ไม่มีผู้ช่วย ข้อมูลที่ได้รับไม่ครบถ้วน ไม่มีประสบการณ์ในการเก็บสถิติ หรือปัญหาได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง โดยปัญหาที่พบน้อยที่สุด คือ การไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในแผนก ส่วนปัญหาที่ทำให้ห้องสมุดไม่สามารถเก็บสถิติให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันได้ คือ การที่ห้องสมุดแต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะในการดำเนินงานและมีการเก็บสถิติต่างประเภทกัน ข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการเก็บสถิติห้องสมุดอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บสถิติอย่างมีเป้าหมาย เล็งเห็นความสำคัญของการเก็บสถิติห้องสมุด อันจะทำให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ครบถ้วน และถูกต้อง ทำให้สถิติห้องสมุดมีความเที่ยงตรง น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น 2. ห้องสมุดแต่ละแห่งควรกำหนดให้มีหน่วยงานกลาง เพื่อรวบรวมสถิติทุกประเภทจากหน่วยงานที่มีการเก็บสถิติห้องสมุด นำมาแปลผลเพื่อใช้ประโยชน์ การวิเคราะห์และแปลผลนั้น ควรกระทำโดยบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสถิติและงานห้องสมุด เพื่อให้ผลที่ได้มีความเที่ยงตรง แม่นยำที่สุด 3. ห้องสมุดควรเก็บและเผยแพร่สถิติอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเก็บสถิติอย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และการเผยแพร่สถิติอย่างสม่ำเสมอย่อมมีประโยชน์ในการเปรียบเทียบสถิติห้องสมุดให้เห็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขงานให้ดียิ่งขึ้น 4. บุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเก็บสถิติและการใช้ประโยชน์จากสถิติห้องสมุด ควรให้ความสนใจและให้ความร่วมมือในการเก็บ และใช้ประโยชน์จากสถิติได้เต็มที่ และมิให้เกิดความสูญเปล่าทั้งแรงงานและเวลาที่เสียไปในการเก็บสถิติ 5. เมื่อได้นำสถิติที่เก็บมาวิเคราะห์และแปลผล จนพบว่ามีความแน่นอนในระดับหนึ่งแล้ว ควรมีการทดลองใช้สถิติกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติงานแต่ละงาน เพื่อหาข้อกำหนดมาตรฐานของห้องสมุดมหาวิทยาลัยในการเก็บสถิติ