Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทกลอนสวดของภาคกลาง ที่เป็นเอกสารต้นฉบับตัวเขียนในแผนกเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ทั้งในด้านรูปแบบเนื้อหา ได้แก่ ด้านวัฒนธรรม ทางวรรณศิลป์ ประเภท ที่มา องค์ประกอบและลักษณะร่วมของวรรณกรรมกลอนสวด รวมทั้งพัฒนาการโดยเน้นศึกษาในฐานะที่เป็นประเภทวรรณกรรม (Genre) ประเภทหนึ่ง ผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่า กลอนสวดเป็นวรรณกรรมคำกาพย์ที่นำมาสวดอ่านเป็นทำนองสวดแต่งด้วยกาพย์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีท่วงทำนองสวดอ่านแตกต่างกันไปเพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง และอารมณ์ในท้องเรื่อง เนื้อเรื่องของกลอนสวดส่วนใหญ่เกี่ยวกับพุทธศาสนา กลอนสวดมีความสัมพันธ์กับประเพณีการสวดอ่านวรรณกรรมของไทย จากการศึกษาเปรียบเทียบประเพณีการอ่านวรรณกรรมของภาคกลางกับภาคอื่น ๆ พบว่า มีลักษณะร่วมกันคือ กลอนสวดมีกำเนิดจากวัด ต่อมาจึงนิยมนำไปสวดอ่านตามบ้านเรือน เมื่อชาวบ้านว่างจากการงานหรือในงานพิธี เช่น งานศพ ผู้สวดเดิมเป็นพระ ต่อมามีฆราวาสที่เคยบวชเรียนเป็นผู้สวด ด้านฉันทลักษณ์และท่วงทำนองสวดนิยมแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค วรรณกรรมกลอนสวดของภาคกลางอาจจำแนกได้เป็นสองประเภท คือ ประเภทสอนคติธรรมโดยตรง และประเพณีสอนคติธรรมโดยอ้อม กลอนสวดประเภทสอนคติธรรมโดยตรง นำเนื้อเรื่องมาจากพระสูตรต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก กลอนสวดประเภทสอนคติธรรมโดยอ้อม นำเนื้อเรื่องมาจากนิบาตชาดกและชาดกนอกนิบาต อรรถกถาธรรมบท นิทานพื้นบ้านและวรรณกรรมอื่น ๆ และยังมีกลอนสวดที่แต่งเลียนแบบชาดกอีกด้วย กลอนสวดในฐานะประเภทวรรณกรรมมีกติกาวรรณกรรม ได้แก่ การเป็นวรรณกรรมคำสอนของวัด การดำเนินเรื่องแสดงถึงแนวคิดที่ว่าชีวิตถูกกำหนดแล้วด้วยบุรพกรรม ชีวิตประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสองด้าน คือทุกข์และสุข การเล่าเรื่องโดยให้ผู้ฟังรู้เรื่องล่วงหน้าของตัวละคร การใช้กลวิธีให้ผู้สวดเป็นผู้เล่าเรื่องและเล่าเรื่องโดยตัดสลับไปมาระหว่างโลกแห่งจินตนาการและโลกแห่งความจริง นอกจากนี้อนุภาคในกลอนสวดยังมีลักษณะเป็นสหบทกล่าวคือ เป็นการผสมผสานอนุภาคจากวรรณกรรมเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้ว วรรณกรรมกลอนสวดมีพัฒนาการเป็นสองยุค คือ ยุคความเก่าและยุคความใหม่ กลอนสวดยุคความเก่ามักมีโครงเรื่องเดี่ยว เสนอแนวคิดชัดเจน มีขนาดไม่ยืดยาว กลอนสวดยุคความใหม่นำเนื้อเรื่องเก่ามาดัดแปลงแต่งเติมเสริมต่อ เนื้อเรื่องมีขนาดยืดยาว มีโครงเรื่องซ้อนประกอบด้วย โครงเรื่องหลักและโครงเรื่องสืบเนื่อง เนื้อเรื่องกล่าวถึงตัวละครหลายรุ่น แนวคิดที่นำเสนอไม่ชัดเจนและเน้นความบันเทิงมากกว่าการมุ่งเสนอคติธรรม พัฒนาการของกลอนสวดในขั้นสุดท้ายคือยุคที่มีการพิมพ์ กลอนสวดและประเพณีการสวดอ่านได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ทำให้การสวดอ่านลดน้อยลงและกลอนสวดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการสวดอ่านก็เสื่อมสลายลงไปด้วย