Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษานาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ซึ่งเป็นการแสดงนาฏยศิลป์ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยการผสมผสานท่าการเคลื่อนไหวแบบนาฏยศิลป์ไทยเข้ากับนาฏยศิลป์สกุลอื่นๆ ตามกระบวนการการประดิษฐ์ท่าเต้น โดยไม่ได้จำกัดความเฉพาะการเคลื่อนไหว ทักษะการเต้นเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการลำดับความคิด การสร้างสรรค์ องค์ประกอบในการแสดงและผู้สร้างสรรค์ชุดการแสดงนั้นๆด้วย การศึกษาเน้นถึงพัฒนาการของนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ตั้งแต่แรกเริ่มถึงปี 2542 รวมทั้งศึกษาถึงรูปแบบ และวิธีการสร้างสรรค์ของนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ผลของการวิจัยพบว่าพัฒนาการของรูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายแบบ ได้แก่ การประยุกต์รูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ไทยตามอิทธิพลของการแสดงบัลเล่ต์การผสมผสานท่านาฏยศิลป์ไทยในการแสดงบัลเล่ต์ระบำเรื่องที่ใช้นาฏยศิลป์ไทยแนวประยุกต์ การผสมผสานท่านาฏยศิลป์ไทยในการแสดงการเต้นแจ๊ส การผสมผสานนาฏยศิลป์ไทยในการแสดงนาฏยศิลป์ร่วมสมัย โดยเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับคติไทย วิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก การผสมผสานนาฏยศิลป์ไทยเข้ากับทักษะการเต้นของนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ซึ่งแต่ละแบบมีพัฒนาการเฉพาะตน ในช่วงเวลาหนึ่งอาจซํ้าซ้อนกับแบบอื่นๆ และในบางครั้งอาจมีอิทธิพลต่อกัน สาเหตุในการสร้างสรรค์ท่าการเคลื่อนไหวในนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ได้แก่ แรงบันดาลใจที่ศิลปินต้องการสร้างสรรค์งานใหม่ขึ้นด้วยตนเอง สร้างสรรค์ขึ้นตามนโยบายขององค์กรวัฒนธรรมระดับประเทศ จากระบบหลักสูตรนาฏยศิลป์ในสถาบันอุดมศึกษา ความต้องการที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สนใจศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิม และความต้องการทางธุรกิจ ทั้งหมดเป็นแรงผลักดันจากสังคมที่ทำให้เกิดนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ตราบใดที่ระบบของการคิดค้นยังเปิดกว้างให้กับการสร้างสรรค์ทักษะใหม่ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของนาฏยศิลปินร่วมสมัยแต่ละคนเช่นนี้ นาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยก็จะมีพื้นฐานที่ชัดเจนและมีภาพลักษณะที่เปิดกว้างเช่นเดียวกับความเป็นไปได้ของนาฏยศิลป์สกุลอื่นๆในปัจจุบัน