Abstract:
เมื่อการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเมื่อนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบันนับเวลาได้ ๕๔ ปี ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง รัฐูธรรมนูญแต่ละฉบับกำหนดโครงสร้างไว้แตกต่างกันตามสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม สำหรับการวิจัยเรื่องการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน : ศึกษาเฉพาะกรณี พ.ศ.๒๕๒๖ – ๒๕๒๙ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์จะศึกษาระบบรัฐสภาไทยด้านอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาเพื่อให้ทราบถึงความสำเร็จในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกรณีการแถลงนโยบาย การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อนำมาปฏิบัติจริง ๆ จะตรงเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเหรือไม่ โดยผู้เขียนศึกษาสมัยรัฐบาลชุดที่ ๔๖ ช่วงเวลา ๒๕๒๖ – ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาในโอกาสแรกที่บทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้สิ้นสุด เป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น ดังนั้น การศึกษาถึงสมัยรัฐบาลชุดที่ ๔๖ จึงมีความสำคัญยิ่งประกอบกับเหตุผลที่ว่า เป็นโอกาสแรกที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สัมผัสกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจสมาขิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติได้เต็มอำนาจ ที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจมากขึ้นนี้ ในทางปฏิบัติมีปัญหาต่าง ๆ จากสมาชิกรัฐสภา ฝ่ายรัฐบาลพรรคการเมืองและจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยเฉพาะมาตรา ๑๓๗ เรื่อง การเปิดอภิปรายทั่วไป และมาตรา ๑๓๖ เรื่องการตั้งกระทู้ถาม สำหรับการตั้งกระทู้ถามมีปัญหาทางปฏิบัติมากในเรื่องจำนวนกระทู้ที่ยังไม่ได้ตอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนิยมการตั้งกระทู้ให้ตอบในสภามากกว่าจะให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา หรือแม้กระทั่งสมาธิกสภาผู้แทนราษฎร หลีกเลี่ยงการตั้งกระทู้ โดยเสนอในรูปญัตติด่วน และสำหรับกรณีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ให้สิทธิแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติได้ แต่เป็นสิทธิเฉพาะคณะรัฐมนตรีทำให้เกิดความตรึงเครียดทางการเมือง รวมทั้งกรณีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ มีปัญหากรณีฝ่ายรัฐบาลพยายามให้มีมติผ่านระเบียบวาระไป รวมทั้งปัญหากรณีมีมติไม่ไว้วางใจไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เคยเข้าชื่อแล้ว จะขอลงชื่อร่วมในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนอื่นอีกได้หรือไม่ หรือในกรณีเปลี่ยนรัฐบาลไม่ว่าโดยการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีบางคนหรือตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ทั้งคณะในระหว่างสมัยประชุม ถ้าเคยมีการเข้าชื่อเปิดอภิปรายตามมาตรา ๑๓๗ มาแล้ว และในการลงคะแนนเสียงก็แพ้ไป จะขอเข้าชื่อเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีชุดใหม่ หรือรัฐมนตรีคนอื่นในสมัยประชุมเดียวกันได้หรือไม่ รวมทั้งปัญหามาตราเดียวกันกรณี "วันลงมติ" การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ฉะนั้นถ้าสามารถแก้ปัญหาที่กล่าวนี้ได้และได้ประสานกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองของไทย จักทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมที่ดีฉบับหนึ่ง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งที่จะทำการศึกษาการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน : ศึกษาเฉพาะกรณี พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๒๙ ด้วยการศึกษาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกรณีกระทู้ถามและการเปิดอภิปรายทั่วไป รวมทั้งกล่าวถึงหลักเกณฑ์แบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษเป็นการช่วยเสริม ในการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน จักเสนอสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้รัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติ