Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและองค์ประกอบของบทสนทนา วิธีการสื่อสารที่กุมารแพทย์และ ผู้ป่วยใช้ในการตรวจรักษาโรค รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในการสื่อสาร ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์เป็นบทสนทนาจากกุมาร แพทย์ ๕ คน คนละ ๑๐ บทสนทนา รวม ๕0 บทสนทนา ผลการวิจัยพบว่า บทสนทนาระหว่างกุมารแพทย์กับผู้ป่วยในการตรวจรักษาโรคมีองค์ประกอบทั้งหมด ๖ ส่วน ได้แก่ การกล่าวทักทายและต้อนรับ การซักถามข้อมูลและตรวจวินิจฉัย การชี้แจงข้อวินิจฉัย การอธิบายวิธีการรักษา การกล่าวก่อนอำลา และการกล่าวอำลา แต่ละองค์ประกอบมีการเรียงลำดับค่อนข้างตายตัว กุมารแพทย์และผู้ปกครองของผู้ป่วยซึ่งเป็นคู่สนทนาหลักต่างก็ใช้วิธีการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสื่อสารของตน กุมารแพทย์มีวิธีการสื่อสารกับผู้ป่วย ๑๐ วิธี ได้แก่ การใช้คำลงท้ายแปรไปตามเพศผู้ป่วยการใช้คำเรียกญาติการใช้ภาษาเด็ก การใช้คำเลียนเสียง การใช้คำถามแบบให้เลือกตอบ การขอร้องแทนการออกคำสั่งการกล่าวยกย่องชมเชย การตั้งเงื่อนไข การยกตัวอย่าง และการชี้แจงเหตุผล และมีวิธีการสื่อสารกับผู้ปกครองของผู้ป่วย ๙ วิธีได้แก่ การใช้คำถามแบบให้เลือกตอบ การใช้ประโยคบอกเล่าในการถาม การทวนคำตอบ การใช้คำที่มีความหมายว่า "เล็กน้อย, ปกติ" การใช้คำว่า"ไม่เป็นไร" การยกตัวอย่าง การแบ่งประเด็น การตั้งคำถาม และการเลี่ยงศัพท์และรายละเอียดทางการแพทย์ ส่วนวิธีการสื่อสารที่ผู้ปกครองของผู้ป่วยใช้กับกุมารแพทย์มี ๔ วิธี ได้แก่ การให้ข้อมูลไม่ตรงกับคำ ถามของแพทย์ การให้ข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีอาการรุนแรง การใช้รูปประโยคคำถามเพื่อความสุภาพและการเกริ่นก่อนการถาม ถึงแม้กุมารแพทย์และผู้ปกครองของผู้ป่วยจะพยายามให้การสื่อสารราบรื่นและบรรลุวัตถุประสงค์ แต่ผู้วิจัยพบปัญหาในการสื่อสารบางประการอันเนื่องมาจากวิธีการสื่อสารที่คู่สนทนาเลือกใช้ ได้แก่ ผู้ปกครองตอบคำถามไม่ชัดเจนตรงประเด็นและไม่ตอบคำถามของแพทย์ ผู้ปกครองปฏิบัติเกินหน้าที่ในปริบทการสนทนา และผู้ปกครองอาจไม่ได้รับข้อมูลจากแพทย์ครบถ้วนเนื่องจากการถามแทรกผลัด ส่วนปัญหาในการสื่อสารระหว่างกุมารแพทย์กับผู้ป่วยพบปัญหาด้านการใช้คำศัพท์และการไม่ยอมให้ความร่วมมือในการตรวจรักษาของผู้ป่วย