Abstract:
๑.ประวัติความเป็นมาของหลักกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตร บุตรชอบด้วยกฎหมายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตรตามกฎหมายครอบครัวหลักกฎหมายในเรื่องนี้ของประเทศต่างๆ มีความเป็นมาต่างกันคือประเทศในภาคพื้นยุโรปและฟิลิปปินส์ใช้หลักกฎหมายโรมันและกฎหมายศาสนาส่วนประเทศทางเอเชียเช่นจีน เกาหลี ญี่ปุ่นเป็นไปตามจารีตประเพณีและวัฒนธรรมสำหรับไทยส่วนใหญ่ได้แบบมาจากประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและเยอรมัน ๒.ความคุ้มครองบุตรที่บิดามารดามีการสมรสกันตามกฎหมาย กฎหมายของประเทศต่างๆ จะมีบทบัญญัติเป็นข้อสันนิษฐานเพื่อคุ้มครองบุตรโดยแบ่งเป็น ๒ ระบบคือ ๑. ระบบบุตรชอบด้วยกฎหมายได้แก่เด็กที่เกิดในระหว่างสมรสได้แก่เยอรมัน สวิส ฟิลิปปินส์ ไทย ๒. แบบบุตรชอบด้วยกฎหมายได้แก่เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาในระหว่างสมารสได้แก่ อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไม่ว่าจะใช้ระบบใดกฎหมายของประเทศต่างๆ ยังกำหนดข้อสันนิษฐานไว้สำหรับกรณีต่างๆ เช่นกรณีเด็กเกิดในระยะแรกที่ชายหญิงเพิ่มทำการสมรสกันกรณีเด็กเกิดระยะหลังจากการสมรสขาดจากกันหรือบิดามารดาแยกกันอยู่ ฯลฯ และเพื่อคุ้มครองสามี กฎหมายส่วนใหญ่ให้อำนาจการปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเป็นของสามีแต่ผู้เดียวยกเว้นกรณีที่สามีไม่อยู่ในสภาพที่ฟ้องเองได้เมื่อมีการฟ้องปฏิเสธเด็กต้องพิสูจน์สภาพตามกฎหมายของตนถ้าเด็กไม่สามารถพิสูจน์สภาพตามกฎหมายของตนได้ศาลจะเพิกถอนความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ๓. การทำให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายของประเทศต่างๆ กำหนดวิธีทำให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้ ๓ วิธีคือ (๑) โดยบิดามารดาสมรสกันภายหลัง (๒) โดยบิดามารดาทำให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายโดยความสมัครใจ ซึ่งอาจได้แก่ การจดทะเบียน โดยพินัยกรรม ฯลฯ (๓) บิดามารดารับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายโดยถูกบังคับได้แก่การที่บิดาถูกฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กในกรณี (๑) และ (๒) กฎหมายบางประเทศบัญญัติให้เด็กคัดค้านได้บางประเทศบัญญัติให้ต้องได้รับความยินยอมของเด็กทั้งอาจคัดค้านโดยเด็กได้ด้วย ๔. การรับรองบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย การรับรองบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายมี ๒ วิธีด้วยกันคือ ๑.การรับรองโดยความสมัครใจซึ่งอาจเป็นการรับรองโดยทำตามแบบเช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น อิตาลี สวิส ฝรั่งเศส เกาหลี หรือการรับรองโดยพฤติการณ์ได้แก่จีน ๒.การรับรองโดยถูกบังคับได้แก่การฟ้องขอให้รับรอง
เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็ก การรับรองโดยความสมัครใจ กฎหมายบางประเทศต้องได้รับความยินยอมของเด็กด้วยได้แก่ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เยอรมัน บางประเทศบัญญัติให้เด็กหรือผู้มีประโยชน์ได้เสียคัดค้านได้ด้วยได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น สวิส ฟิลิปปินส์ ฝรั่งเศส ในด้านบิดานั้นกฎหมายของทุกประเทศ ยกเว้นเยอรมัน บิดามารดาผู้รับรองอาจเพิกถอนการรับรองได้ในบางกรณีอย่างไรก็ตาม เยอรมันก็มีบทบัญญัติให้บิดาบอกล้างโมฆียะกรรมเกี่ยวกับการรับรองบุตรไว้เช่นกัน ๕. การขอให้ศาลแสดงความเป็นบิดาของบุตรตามธรรมชาติ การขอให้ศาลแสดงความเป็นบิดาของบุตรตามธรรมชาติมี ๒ ระบบคือ ๑. ระบบที่ยอมให้ฟ้องได้โดยปราศจากเงื่อนไขได้แก่ เยอรมัน ๒. ระบบที่ยอมให้ฟ้องได้เมื่อมีเงื่อนไขบางประการได้แก่ ฝรั่งเศส สวิส ฟิลิปปินส์ อิตาลี ๖. สิทธิของมนุษย์ ๑. บุตรชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิใช้นามสกุลของบิดา มีสิทธิในการจะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูและได้รับมาดกในฐานทายาทผู้สืบสันดาน ๒. บุตรตามธรรมชาติที่ถูกรับรองแล้วบางประเทศให้มีสิทธิใช้นามสกุลของบิดาเช่น ฟิลิปปินส์ สวิส นอกนั้นให้ใช้นามสกุลของมารดาอย่างไรก็ตามทุกประเทศบัญญัติให้บุตรชนิดนี้มีสิทธิได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูและรับมรดกของบิดามารดาผู้รับรองได้ในอัตราส่วนที่เท่าหรือน้อยกว่าบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วแต่กรณี ๓. บุตรที่ถูกแสดงความเป็นบิดาบางประเทศเช่น สวิส มีสิทธิ์ใช้นามสกุลของบิดานอกนั้นให้ใช้นามสกุลของมารดาและให้มีสิทธิได้รับเฉพาะค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่านั้น ๔. บุตรตามธรรมชาติที่ไม่อาจรับรองหรือไม่อาจแสดงความเป็นบิดาได้ กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้มีสิทธิหน้าที่ใดๆ ต่อบิดามารดาเลย